ว่าด้วยเรื่องของ...สถานพยาบาลสัตว์ ตอนที่ 2
กลับมาพบกันอีกเช่นเคยที่เว็บไซต์
Yippee Happy ในตอนที่ผ่านมาคุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องการขออนุญาตจัดตั้ง และดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ รวมถึงประเภทของสถานพยาบาลสัตว์ไปแล้ว
ในตอนนี้ชายหมอ(หมา) จะขอมาเล่ารายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานพยาบาลสัตว์กันต่อ เชิญติดตามได้เลยครับ....
จากที่ชายหมอ(หมา) ได้เล่าไว้ว่า สถานพยาบาลสัตว์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทมีที่พัก และไม่มีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืน ซึ่งแต่ละสถานพยาบาลสัตว์จะต้องมีป้ายบอกประเภทไว้อย่างชัดเจน ที่นี้คุณเจ้าของคงเกิดความสงสัยว่า แล้วชื่อของสถานพยาบาลสัตว์แต่ละแห่งล่ะ บางที่เป็นคลินิก บางที่เป็นโรงพยาบาลสัตว์ มีความแตกต่างกันอย่างไร หรือมีความเกี่ยวข้องกับการมีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืนไหม แน่นอนครับย่อมมีความแตกต่างในรายละเอียดแน่นอน
ชายหมอ(หมา) จะขอเริ่มเล่าที่คลินิกกันก่อนนะครับ “คลินิกรักษาสัตว์” เป็นสถานพยาบาลสัตว์ที่ให้บริการตรวจ ป้องกันรักษาโรคสัตว์ หรือผ่าตัดเล็ก อาจมีหรือไม่มีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืนก็ได้ แต่ในกรณีที่มีให้บริการที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนจะต้องมีบริการตรวจค่าทางโลหิตวิทยา และค่าเคมีโลหิตด้วยครับ มีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์เป็นผู้ให้บริการอย่างน้อย 1 คน ตลอดระยะเวลาเปิดทำการ หรืออาจเพิ่มขึ้นทั้งนี้ต้องดูรายละเอียดของประเภทสถานพยาบาลสัตว์ร่วมด้วย
ส่วนถ้าเป็นโรงพยาบาลสัตว์ส่วนใหญ่มักจะมีขนาดใหญ่กว่าคลินิกครับ แต่อย่านึกภาพว่าจะเหมือนโรงพยาบาลคนนะครับ ไม่ใหญ่โตขนาดนั้น เรียกว่าขนาดเทียบกันไม่ได้เลย แต่เอาเป็นว่าใหญ่กว่าคลินิกรักษาสัตว์แล้วกันครับ “โรงพยาบาลสัตว์” เป็นสถานพยาบาลสัตว์ที่ให้บริการตรวจ ป้องกัน รักษา โรคสัตว์ ผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่ ตรวจค่าทางโลหิตวิทยา และค่าเคมีโลหิต มีการให้บริการที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน และที่สำคัญมากอีกอย่างนะครับ จะต้องมีบริการเอกซเรย์เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคในสัตว์ป่วยด้วยครับ ถึงจะเรียกว่าโรงพยาบาลสัตว์ได้ และแน่นอนว่าบุคลากรก็จะมีจำนวนมากกว่าคลินิกรักษาสัตว์แน่นอนครับ บางแห่งมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างหมุนเวียนมาให้บริการด้วย
เห็นความแตกต่างแล้วใช่ไหมครับ สรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ คลินิกจะขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก อุปกรณ์และเวชภัณฑ์มีไม่มาก มีเท่าที่จำเป็น และให้บริการรักษาโรคพื้นฐานเท่านั้น ส่วนโรงพยาบาลสัตว์ก็จะมีขนาดใหญ่กว่า บุคลากรมากกว่า อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆมีครบครันกว่า จึงทำให้มีศักยภาพในการรักษาโรคและผ่าตัดได้มากกว่านั่นเองครับ
นอกจากคลินิกรักษาสัตว์และโรงพยาบาลสัตว์แล้ว ยังมีสถานพยาบาลสัตว์บางประเภทที่เน้นการรักษาเฉพาะทางหรือเฉพาะกลุ่มโรค เช่น ศูนย์ศัลยกรรม ศูนย์รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคตา หรือศูนย์กายภาพบำบัด เป็นต้น สถานพยาบาลสัตว์จะสามารถใช้ชื่อแบบนี้ได้ ก็ต่อเมื่อมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรืออนุมัติวุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองจากสัตวแพทย์สภา ให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในสาขาที่ใช้ชื่อดังกล่าว เป็นผู้ให้บริการเท่านั้นครับ
เรื่องต่อมา ที่คุณเจ้าของจะต้องรู้ ก็คือ จะสังเกตได้อย่างไรว่า สถานพยาบาลสัตว์ที่เราเข้าไปรับบริการนั้น เปิดดำเนินการอย่างถูกต้อง ชายหมอมีข้อแนะนำให้สังเกตคร่าว ๆ ดังนี้ครับ
1. จะต้องมีป้ายแสดงชื่อสถานพยาบาลสัตว์และระบุประเภทของสถานพยาบาลสัตว์แสดงไว้อย่างชัดเจน
2. เมื่อเข้าไปในสถานพยาบาลสัตว์แล้ว จะต้องมีป้ายแสดงชื่อ และสกุลของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ที่ให้บริการ สาขาวิชาชีพ รูปถ่ายสีที่เห็นหน้าได้ชัดเจน พร้อมทั้งระบุเลขที่ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ รวมถึงวันและเวลาปฏิบัติงาน เพื่อที่ผู้เข้ารับการบริการจะสามารถทราบได้ว่า สัตวแพทย์ที่กำลังให้บริการตรวจรักษา ตรงกับรายชื่อที่แสดงหรือไม่ ป้องกันการแอบอ้าง หรือการทำการรักษาโดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์นั่นเอง
3. เนื่องจากแต่ละสถานพยาบาลสัตว์มีการกำหนดอัตราค่าบริการไม่เท่ากัน สถานพยาบาลสัตว์จะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาล และค่าบริการไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย หรือจัดให้มีป้าย “ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการที่นี่” แสดงไว้เพื่อให้คุณเจ้าของสามารถสอบถามค่าบริการก่อนจะทำการรักษาได้ครับ
นอกจาก 3 ข้อข้างต้นแล้ว ลักษณะอื่น ๆ ของสถานพยาบาล เช่น ทำเลที่ตั้ง ที่จอดรถ ความสะอาดของสถานที่ ความสวยงามของสถานที่ แสงสว่าง จำนวนบุคลากร service mind การให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เครื่องมือและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ บริการพิเศษอื่น ๆ เช่น รถรับ-ส่ง เป็นต้น รวมถึงอัตราค่ารักษาและค่าบริการ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านจะใช้เป็นเหตุผลในการเลือกสถานพยาบาลสัตว์ให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงและสถานภาพทางการเงินของเราครับ
รายชื่อของสถานพยาบาลสัตว์ที่ขออนุญาตจัดตั้งและดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพ คุณเจ้าของสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ (www.dcontrol.dld.go.th)
ข้อมูลทั้งหมดที่ชายหมอ (หมา) นำมาเล่านี้เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานให้คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ทราบถึงวิธีการเลือกสถานพยาบาลสัตว์ที่เปิดดำเนินการอย่างถูกต้องเท่านั้นครับ ส่วนที่ไหนดีที่สุด ที่ไหนรักษาเก่งที่สุดนั้น ชายหมอ (หมา) คงไม่สามารถบอกได้จริง ๆ ครับ แต่เอาเป็นว่าอย่างน้อย หากเราได้เลือกสถานพยาบาลสัตว์ที่ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้ว ก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า สัตว์เลี้ยงของเราจะได้รับการรักษาโดยผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ที่มีความรู้อย่างแน่นอนครับ หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้คงเป็นประโยชน์กับทุกท่าน และอย่าลืมติดตามกันในตอนหน้าครับ รับรองว่ามีเรื่องน่าสนใจมาแบ่งปันกันอีกแน่นอน จนกว่าจะพบกันใหม่
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)