การฉีดยาคุมกำเนิด โดยใช้ฮอร์โมนในสุนัขและแมว นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายกับตัวสัตว์ที่ได้รับการฉีดโดยตรงแล้ว ยังอาจส่งผลต่อเนื่องอีกหลายอย่างที่คิดไม่ถึง
ฮอร์โมนคุมกำเนิดที่ใช้ในสุนัข และแมวมีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ โพรเจสโตเจน หรือ โพรเจสติน (progestogens or progestins; PGs) ซึ่งเป็นสารสังเคาะห์ (synthetic analogues) ของ progesterone เช่น medroxyprogesterone acetate (MPA-Depoâ), megestrol acetate (MA), proligestone (PR-Covinan), chlormadinone acetate (CMA), delmadinone acetate (DMA), norethisterone acetate (NTA) และ melengestrol acetate (MGA)
นิยมใช้มากในการควบคุมวงจรการเป็นสัดของในสัตว์หลาย ๆ ชนิด เช่น ในสุนัข และแมวจะเป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว (เริ่มใช้ในช่วงก่อนการเกิดระยะ proestrus หรือก่อนเป็นสัดระยะแรก) หรือคุมกำเนิดแบบระยะเวลานาน (เริ่มในช่วง anestrus คือช่วงที่ไม่เป็นสัด) ใช้เลื่อนการเป็นสัดออกไป หรือใช้เพื่อกดการเป็นสัด (เริ่มใช้เมื่อเริ่มเป็นสัดไปแล้วในระยะต้น ใช้ได้บางชนิดเท่านั้น)
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไปหยุดการสร้าง หรือลดการหลั่งของฮอร์โมนปกติจากสมอง โดยแต่ละตัวก็จะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น เกิดถุงน้ำบนผนังมดลูก เกิดการเจริญผิดปกติของเซลล์เต้านม จนกลายเป็นเนื้องอก ลดการสร้างหรือเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด เกี่ยวเนื่องกับภาวะเบาหวาน เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วยังอาจเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังในบริเวณที่มีการฉีด และอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น เพิ่มความอยากอาหารและน้ำหนัก, กินน้ำมาก ลดกำหนัดในสัตว์เพศผู้ ส่วนการใช้ในสุนัขและแมวที่กำลังตั้งท้องระยะแรก อาจเป็นสาเหตุของการเกิด ความไม่ปกติทางเพศของตัวอ่อนเพศเมีย และเกิดการคลอดช้ากว่ากำหนดได้
ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนี้สามารถป้องกันได้ ถ้ามีการใช้ในขนาดที่ถูกต้องและไม่ใช้ติดต่อนานจนเกิดไป การเลือกใช้ในสัตว์แต่ละตัวควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ คือ
1. ต้องรู้วงรอบการเป็นสัดของสุนัขและแมวอย่างชัดเจน โดยสัตวแพทย์ต้องทำการตรวจทุกครั้งก่อนคิดให้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
2. อย่าเลือกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้นาน ในการเป็นสัดครั้งแรกในแมว เพราะจะทำให้เกิดการกระตุ้นการขยายของเซลล์เต้านมอย่างยาวนานได้
3. ห้ามใช้ในสัตว์ที่ตั้งท้องอยู่ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ หรืออาจทำให้เกิดการคลอดช้ากว่ากำหนด เกิดการตายของตัวอ่อนได้
4. ห้ามใช้ในการรักษาท้องเทียมในสุนัข เพราะอาการท้องเทียมจะหายไปแต่จะกลับมาใหม่และรุนแรงมากขึ้นเมื่อหยุดการรักษา
5. ห้ามใช้ในสุนัขที่มีการเกิดเลือดออกจากมดลูก ห้ามใช้ในสัตว์ที่เกิดการเป็นสัดยาวนาน เนื่องจากอาจเกิดความผิดปกติ คือ ถุงน้ำ หรือเนื้องอกรังไข่
6. ห้ามใช้ในสัตว์ป่วยโรคเบาหวาน ควรทำการตรวจสอบค่าระดับน้ำตาลในเลือด blood glucose ในรายที่มีการให้ยามาเป็นเวลานานเพื่อตรวจสอบ glucose metabolism เสมอ
สรุปคือ ควรใช้ในสัตว์ที่เคยเป็นสัดมาก่อนแล้วที่อยู่ในระยะ anestrus (หลังเป็นสัดไป 3-6 เดือน) ส่วนในสัตว์ที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ไม่ควรใช้สารที่ออกฤทธิ์นาน (ฮอร์โมนที่ใช้ฉีดในปัจจุบัน)
การป้องกัน
ดังนั้นการให้ฮอร์โมนเหล่านี้ มักพบผลเสียที่เด่นชัด โดยเฉพาะการฉีดยาคุมกำเนิด โดยใช้ฮอร์โมน) ในสุนัขและแมว นั้นอาจก่อให้เกิด Cystic Endometrial Hyperplasia หรือ ผนังมดลูกหนาตัวเป็นถุงน้ำ
***(ต้องถามผู้หญิงดูว่า เวลามดลูกมีอะไรผิดปกติมันเจ็บปวดเพียงไหน เพียงแต่น้องหมา น้องแมวพูดบอกไม่ได้)
มดลูกอักเสบเป็นหนอง (Pyometra) เนื้องอก หรือมะเร็งเต้านม กดฮอร์โมนพวก Adrenocorticosteriod เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน และอื่นอีกมากมาย แล้วถ้าฉีดโดยไม่ทราบว่าสุนัขหรือแมว ผสมพันธุ์และมีปฏิสนธิแล้ว (หรือทราบแต่ตั้งใจฉีด หรือ หมอไม่ใส่ใจซักประวัติสักแต่ว่าฉีด) ฮอร์โมนนี้จะทำให้เกิดการตั้งท้องได้ปกติ แต่จะไม่เกิดการคลอดตามธรรมชาติ เพราะกระบวนการคลอดปกตินั้น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนี้จะลดลง แต่เมื่อฉีดเข้าไป ปริมาณที่คงอยู่ 4-6 เดือนจะเกินเวลาปกติของการตั้งท้อง เมื่อเลยระยะการตั้งท้องปกติ รกจะไม่สามารถทำหน้าที่ในการส่งผ่านอาหารและออกซิเจนจากแม่ให้ลูกได้ ลูกสัตว์จะค่อย ๆ ตาย อาจเน่าและติดเชื้อสู่กระแสเลือดจนก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตแม่สัตว์ต่อมา
เจ้าของสัตว์หรือสัตวแพทย์สมัยใหม่ จะไม่นิยมฉีดยาคุมกำเนิดนี้แล้ว เพราะผลดีมีไม่มากเท่าผลเสีย ถ้าจำเป็นต้องฉีดจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายสัตว์อย่างละเอียดและไม่ทำการฉีดซ้ำหลายหน ...แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด.........หยุด การฉีดยาคุม แล้วแนะนำให้เจ้าของทำหมันถาวรในสัตว์เลี้ยงกันดีกว่าค่ะ
ติดตามข้อมูลดี ๆ สำหรับคนรักสัตว์ได้ที่
FB Page :
Yippee Happy
ข้อมูลอ้างอิง
osdco.net