Blog

บทความน่ารู้

โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส

สวัสดีครับคุณผู้อ่าน และคุณเจ้าของผู้ใส่ใจในสุขภาพของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน
กลับมาพบกับชายหมอ(หมา) และ Yippee Happy กันอีกเช่นเคยครับ
วันนี้ชายหมอ(หมา) ขอเสนอตอนที่มีชื่อว่า
 

 " โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส "   
(Contact dermatitis) ในสุนัข และแมว 

 

โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Contact dermatitis) คือ อะไร ?

โรคนี้แน่นอนว่าเป็นโรคผิวหนังครับ (ชื่อก็บอกอยู่แล้ว) เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัข และแมว เกิดจากการสัมผัสโดนกับสารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ทำให้มีการอักเสบที่ผิวหนังเกิดขึ้น โดยทั่วไปโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามกลไกการเกิดโรคที่แตกต่างกัน ได้แก่

 1. โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ชนิดระคายเคือง (Irritant contact dermatitis)
 2. โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ชนิดภูมิแพ้ (Allergic contact dermatitis)



โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Contact dermatitis) เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างกันอย่างไร เกิดจากสาเหตุเดียวกันไหม คำตอบก็คือ มันต่างกันที่กลไกการเกิดโรคครับ

 1. โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสชนิดระคายเคือง เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนัง ต่อการสัมผัสกับสารก่อการระคายเคืองต่าง ๆ (Irritant) ตามชื่อของมันเลยครับ 
สารที่ก่อความระคายเคืองมีมากมายหลายอย่าง เช่น สารเคมีที่ผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาดพื้น/สุขภัณฑ์ต่าง ๆ แม้กระทั่งแชมพูอาบน้ำของน้องหมา น้องแมวเอง ก็ระคายเคืองได้ครับ นอกจากนี้ยังสามารถพบการระคายเคืองจากการสัมผัสสิ่งแปลกปลอม เช่น สัตว์มีพิษ พืชบางชนิด ยาง และน้ำมัน รวมถึงการสัมผัสกับความร้อน หรือความชื้นเป็นเวลานาน เป็นต้น

 2. โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสชนิดภูมิแพ้ ก็เช่นกันครับ เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์ ต่อสารที่ก่ออาการแพ้ หรือสารก่อภูมิแพ้ (allergen) ที่มีการสัมผัสทางผิวหนัง 
โดยกลไกการเกิดโรคผิวหนังอักเสบชนิดภูมิแพ้นั้น ในครั้งแรกที่มีการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จะยังไม่พบอาการใด ๆ แต่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีการทำความรู้จักและจดจำสารชนิดนั้น ๆ ไว้ 
เมื่อมีการสัมผัสกับสารชนิดเดิมในครั้งที่สอง หรือครั้งต่อ ๆ ไป ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือ ปฏิกิริยาภูมิไวเกิน (hypersensitivity reaction) กับผิวหนังบริเวณที่มีการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว 
จากการศึกษาพบว่าสารที่มักก่อให้ปฏิกิริยาภูมิแพ้นั้น ได้แก่ ยาทาภายนอก น้ำหอม แชมพูอาบน้ำ ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าปรสิตภายนอก หรือวัสดุจำพวกยาง พลาสติก นิกเกิล เป็นต้น


สัตว์เลี้ยงของเราจะมีอาการอย่างไร ?
เมื่อเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส....
คำถามต่อมา คือโรคนี้มีอาการอย่างไร ? อันตรายแค่ไหน ?

อาการของโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสนั้น ในระยะเริ่มแรกจะมีความคล้ายคลึงกัน คือ มีการอักเสบของผิวหนัง บวม เป็นตุ่ม มีสะเก็ด ขนร่วง และคันในบริเวณที่สัมผัสโดยตรงกับสารระคายเคือง หรือสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ไม่มีขน หรือมีขนสั้น เช่น เท้า จมูก ข้อศอก หัวเข่า ท้อง เป็นต้น และในกรณีของโรคผิวหนังอักเสบชนิดระคายเคืองจะพบลักษณะแผลหลุมตื้น ๆ ที่บริเวณรอยโรคด้วย

โดยปกติโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสนั้นอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่ปัญหาใหญ่คือ มันคันมากครับ น้องหมา น้องแมวที่ป่วยจะเกา กัด เลีย บริเวณรอยโรคอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนแทรก รอยโรคจะมีการลุกลามจากเดิม และจากที่ไม่รุนแรงก็จะกลายเป็นรุนแรงมากขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษา อีกทั้งยังใช้เวลารักษาที่นานขึ้นอีกด้วย


การรักษาเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส
การรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสทั้งสองแบบนั้น วิธีการที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อการระคายเคือง และสารก่อภูมิแพ้ เมื่อหลีกเลี่ยงได้สัตว์เลี้ยงของเราก็จะไม่ป่วย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือป่วยเป็นโรคนี้แล้ว เจ้าของก็ต้องพาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ใกล้บ้านครับ 
โดยสัตวแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาทางยาตามความเหมาะสม เช่นยาทาภายนอก ในกรณีเป็นแค่บางตำแหน่ง ไม่มาก หรือยารับประทาน ในกรณีที่เป็นทั่วตัว จุดประสงค์ของการรักษาก็เพื่อลดอาการคัน รักษาการติดเชื้อแทรกซ้อน และในรายที่มีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องให้ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ทำการรักษาครับ


การป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส
พออ่าน ๆ บทความนี้ไป คุณผู้อ่านเริ่มกลัว และกังวลใช่ไหมครับ ถ้าไม่อยากให้สัตว์เลี้ยงตัวน้อยของเราป่วยเป็นโรคนี้จะป้องกันได้อย่างไร ไม่ยากเกินความสามารถแน่นอนครับ 
การป้องกันการเกิดการรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสนั้นแสนจะง่ายดาย ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อการระคายเคือง และสารก่อภูมิแพ้โดยตรงครับ อะไรที่เราคิดว่าน่าจะทำให้แพ้หรือระคายเคืองต้องจัดการให้เรียบร้อย 

นอกจากนี้การเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้บนตัวสัตว์ เช่น แชมพูอาบน้ำ น้ำหอม ยาฆ่าปรสิตภายนอก รวมถึงน้ำยาซักเสื้อผ้าสัตว์ ก็มีความสำคัญ  ควรพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสม เลือกใช้ชนิดระคายเคืองหรือก่อภูมิแพ้ต่ำ จะได้ไม่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสตามมาหลังการใช้ เพียงเท่านี้สัตว์เลี้ยงของเราก็จะปลอดภัยจากโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสแล้วครับ

สำหรับบทความในตอนนี้ก็จบลงเเต่เพียงเท่านี้ครับ...ชายหมอ(หมา) คงต้องขอลาไปก่อนนะครับ 


บทความโดย 
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)


ข้อมูลอ้างอิง 
1.​Gross TL, Ihrke PJ, Walder EJ, Affolter VK. (2005). Skin diseases of the dog and cat: Clinical and Histopathologic Diagnosis (2nd ed.). Oxford. Blackwell Publishing.
2.​Thomas P. Habif. Clinical Dermatology. (2009) Elsevier Health Sciences.
3.​Miller WH, Griffin CE and Campbell KL. (2013). Muller and Kirk’s Small Animal Dermatology 7th Ed. St. Louis, MO: Saunders.