สวัสดีครับ กลับมาพบกับชายหมอ(หมา) และ Yippee Happy กันอีกเช่นเคย
ช่วงนี้ประเทศไทยของเราได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว นอกจากอากาศจะร้อนแล้ว แดดก็แรงอีก คุณเจ้าของหลายท่าน หรือแม้แต่ชายหมอ(หมา) เอง ก็คงต้องหาทางหลีกเลี่ยงความร้อนนี้ โดยเลือกที่จะอยู่ในร่ม หรืออยู่ห้องแอร์กันแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว แล้วเหล่าบรรดาสัตว์เลี้ยงของเราหล่ะ เอาเข้ามาอยู่ มากิน และนอนในห้องแอร์ด้วยกันดีไหม หรือต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษบ้าง ในตอนนี้ชายหมอ(หมา) เลยถือโอกาสมาแบ่งปัน วิธีการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในหน้าร้อนครับ เพื่อให้คุณเจ้าของทั้งหลายได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลสัตว์เลี้ยงของเรานั่นเอง
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า ฤดูร้อน หรือหน้าร้อนของประเทศไทยเป็นอย่างไร ฤดูร้อนของประเทศไทยนั้น อยู่ในช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น โดยความชื้นอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ตามแต่สภาพภูมิศาสตร์ หลายท่านอาจจะบอกว่า ปกติประเทศไทยก็ร้อนทั้งปีอยู่แล้วนะชายหมอ(หมา) หน้าร้อนก็คงไม่แตกต่างจากหน้าอื่น ๆ หรอก แต่เชื่อเถอะครับ มันแตกต่างแน่นอน เพราะในหน้าร้อนนั้น โลกของเราจะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และประเทศไทยทำมุมตั้งฉากกับดวงอาทิตย์พอดี จึงทำให้ได้รับความร้อน และแสงจากดวงอาทิตย์ไปเต็ม ๆ อุณหภูมิของฤดูร้อนจึงร้อนกว่าทุกฤดู บางวันถึงขั้นทะลุ 40 องศาเซลเซียสเลยก็มีครับ นอกจากนี้หน้าร้อนเป็นช่วงที่ไม่มีลมมรสุมประจำฤดูพัดผ่านเลย ทำให้อากาศมีความร้อนอบอ้าวเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
เมื่อต้องอาศัยอยู่ในสภาพอากาศแบบนี้ เพื่อป้องกันปัญหา และโรคบางโรคที่มักเกิดขึ้นในหน้าร้อน เราจึงควรดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อยดังต่อไปนี้ครับ
⦁ การทำวัคซีนป้องกันโรค
เป็นที่ทราบกันดีว่า มีโรคติดเชื้อหลายโรคที่มักพบการระบาดในช่วงหน้าร้อน เจ้าของสัตว์ทุกท่านจะต้องตรวจเช็คประวัติวัคซีนให้เรียบร้อยว่าได้ทำการฉีดกระตุ้นไปครบหรือยัง หากยังให้รีบดำเนินการครับ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันที่ได้ผลดีที่สุด เพราะหากสัตว์เลี้ยงของเราไปติดโรคนี้มา กว่าเจ้าของจะสังเกตเห็น....สัตว์อาจแสดงอาการป่วยแล้ว และโรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลครับ ในกรณีที่เจ้าของไม่แน่ใจ หรือจำไม่ได้ แนะนำให้ปรึกษาสัตว์แพทย์ประจำครอบครัวนะครับ จะมีประวัติการรักษาบันทึกไว้ เพียงเท่านี้ก็สามารถปกป้องสัตว์เลี้ยงของเราจากโรคติดต่อต่าง ๆ ได้ครับ
⦁ จัดที่พัก และที่นอนให้เหมาะสม
ที่พัก และที่นอนของสัตว์เลี้ยงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ในหน้าร้อนหลาย ๆ บ้านมักไม่ได้ดูแลในส่วนนี้เป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับหน้าหนาว หรือหน้าฝน ชายหมอ(หมา) ขอบอกเลยห้ามละเลยครับ เพราะในหน้าร้อน มีโรคที่ชื่อว่า โรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรง จัดอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่โรคดังกล่าวนี้ เจ้าของสามารถป้องกันได้ไม่ยาก โดยการจัดที่พัก และที่นอนของสัตว์เลี้ยงให้สะอาด มีอุณหภูมิพอเหมาะ อยู่ในร่ม อากาศถ่ายเทได้ดี ในบางกรณีหากเลี้ยงสุนัข หรือแมวสายพันธุ์ที่มีขนหนามาก ๆ หรือมีต้นกำเนิดในแถบอากาศหนาว การให้อยู่ในห้องแอร์ก็มีความจำเป็นครับ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดภาวะโรคลมแดด
⦁ การให้น้ำที่สะอาดและเหมาะสม
ในหน้าร้อนแบบนี้ แม้แต่คนเราก็กระหายน้ำเพิ่มมากขึ้น ในสัตว์เลี้ยงก็มีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะน้ำที่กินเข้าไปเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ร่างกายใช้ในการช่วยระบายความร้อนผ่านทางเหงื่อ และทางเดินหายใจ ดังนั้นเจ้าของจึงต้องจัดหาน้ำสะอาดปริมาณที่เพียงพอ และใส่ในภาชนะที่เหมาะสม (ป้องกันการเล่นน้ำ) ให้แก่สัตว์เลี้ยงครับ โดยน้ำที่ให้นั้นแนะนำให้เป็นน้ำสะอาดก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องผสมเกลือแร่อื่น ๆ เพิ่ม
⦁ การดูแลความสะอาดขน และผิวหนัง การอาบน้ำ-การตัดขน
การดูแลความสะอาดของขน และผิวหนังก็มีความสำคัญ ชายหมอ(หมา) เชื่อว่าคุณเจ้าของหลาย ๆ ท่านมักอาบน้ำให้สุนัขค่อนข้างบ่อยในหน้าร้อน ซึ่งสามารถทำได้ครับ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่ไม่ควรอาบบ่อยจนเกินไป โดยทั่วไปเพียงสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้งก็พอ โดยเลือกแชมพูอาบน้ำที่เหมาะสม ไม่ทำให้ผิวหนังแห้ง และที่สำคัญ อย่าลืมเป่าขนให้แห้งสนิทด้วยครับ ป้องกันการอับชื้นอันจะนำมาซึ่งโรคผิวหนังต่าง ๆ
ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงของเรา โดยเฉพาะสุนัข ชอบออกไปเล่นนอกบ้าน รักการผจญภัย สิ่งหนึ่งที่เจ้าของมันจะต้องเจอก็คือ การที่สุนัขของเรามักกลับบ้านมาด้วยสภาพเปียกปอน ส่งกลิ่นเหม็น จากการไปเล่นน้ำในสระ หรือบ่อที่ไม่สะอาด หากสกปรก และเหม็นมาก การอาบน้ำเพิ่มจากที่แนะนำก็สามารถทำได้ครับ หรือบางท่านอาจจะมีการใช้ conditioner เพิ่มเติมด้วยเพื่อไม่ให้ขน และผิวหนังแห้งจนเกินไป หรือหากสระน้ำที่สุนัขของเราไปเล่นนั้นไม่สกปรก เช่น เป็นสระว่ายน้ำ การเป่าขนและทำความสะอาดด้วยแชมพูแห้ง ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจครับ แต่ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงเล็กน้อย
อีกเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ การตัดขน จากประสบการณ์ตรงของชายหมอ(หมา) พอกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่หน้าร้อนปุ๊บ วันรุ่งขึ้นจะมีเจ้าของพาสัตว์เลี้ยงมาที่โรงพยาบาลเพื่อตัดขนมากมาย โดยทรงที่นิยม คือ ไถเกรียน จนขนสั้นติดหนัง การตัดขนสั้นแบบนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยในเรื่องของการระบายความร้อนได้ดี ดูแลง่าย แต่เมื่อทำการตัดขนจนสั้นแล้ว สัตว์เลี้ยงจะไม่มีขนคอยปกคลุมให้ความอบอุ่น ดังนั้นหากเจ้าของให้สัตว์เลี้ยงนอนในห้องแอร์ หรือที่อากาศเย็น โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจจำเป็นต้องใส่เสื้อ หรือห่มผ้าที่สะอาดให้ด้วยครับ ป้องกันการเป็นหวัด แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการตัดขนให้สั้นนี้ เหมาะกับน้องหมามากกว่าน้องแมวนะครับ เพราะน้องหมาจะสามารถปรับตัวเข้ากับขนทรงใหม่ได้ง่าย ส่วนน้องแมวนั้น หลายตัวที่เจ้าของพามาตัดขนสั้น มักมีอาการซึม ไม่กินอาหาร และต้องใช้เวลาปรับตัวหลายวันทีเดียว เจ้าของอาจจะต้องเลือกทรงขนที่ไม่สั้นจนเกินไปจนทำให้เครียดครับ ถ้าไม่เคยตัดขนมาก่อน แนะนำแค่เล็มๆให้ไม่ยาวเกะกะก็พอครับ ไม่ต้องถึงขั้นไถเกรียน
⦁ งดการทำกิจกรรมในบริเวณที่มีแดดจัด
ความร้อนจากภายในร่างกายที่สร้างขึ้นในระหว่างการออกกำลังกาย ร่วมกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคลมแดด เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว เจ้าของจึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในบริเวณที่แดดจัด และเลือกพาไปวิ่งออกกำลังกายร่วมกันในตอนเย็นแทน หรืออาจจะเปลี่ยนกิจกรรมจากที่เคยวิ่งเล่นกลางแจ้งเป็นพาไปเดินห้าง ไปนั่งร้านกาแฟที่บรรยากาศร่มรื่น หรือแม้แต่พาไปว่ายน้ำก็สามารถทำได้ แต่หลังว่ายน้ำเสร็จ อย่าลืมอาบน้ำและเป่าขนให้แห้ง เพื่อป้องกันการเป็นหวัดครับ
⦁ การดูแลอื่นๆ
นอกจากข้อปฏิบัติที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น การดูแลสุขภาพในแง่อื่น ๆ เช่น การให้วิตามินเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกัน วิตามินบำรุงขน ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้อย่าลืมใส่ใจในเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงดู เพราะสิ่งเหล่านี้หากไม่ดูแลให้สะอาด มักจะเป็นแหล่งนำพาเชื้อโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงของเราได้ครับ
นี่ก็คือทั้งหมดที่ชายหมอ(หมา) นำมาแบ่งปันกันในตอนนี้ เชื่อว่าคุณเจ้าของสัตว์ทุกท่านสามารถทำได้ไม่ยากครับ เพิ่มการเอาใจใส่อีกสักนิด เพื่อสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยงเรา
สำหรับในตอนนี้ชายหมอ(หมา) คงต้องขอลาไปก่อน จนกว่าจะพบกันใหม่ครับ
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)