สวัสดีครับ กลับมาพบกับชายหมอ(หมา) และYippee Happy กันอีกเช่นเคย
ช่วงนี้สภาพอากาศของบ้านเรา ก็เริ่มอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ เข้าสู่หน้าร้อนมาก............. อย่างที่ทุกคนเคยชินกัน อุณหภูมิและความชื้นที่สูง ประกอบกับการถ่ายเทของอากาศที่ไม่ดีเหมือนฤดูอื่น ๆ นอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิต และสุขภาพของคนเรา ก็ยังส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราด้วยเช่นกันครับ ในตอนนี้ชายหมอ(หมา) ขอถือโอกาสนำเรื่องราวของโรคที่มักจะเกิดขึ้นในหน้าร้อนมาแบ่งปันกันครับ โดยโรคที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
⦁ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
โรคยอดฮิตที่คุณเจ้าของหลาย ๆ ท่านมักจะนึกถึงในหน้าร้อนเป็นลำดับแรก ซึ่งตามข้อมูลทางระบาดวิทยาก็ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นครับ แต่แท้ที่จริงแล้วโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เป็นโรคที่ระบาดตามฤดูกาล แต่สามารถระบาดได้ทั้งปีครับ โดยติดต่อผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลายของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยมากมักมาจากการถูกกัด ซึ่งในฤดูร้อนมีปัจจัยโน้มนำเป็นพิเศษ นั่นก็คือ อากาศที่ร้อนมาก ๆ ทำให้สัตว์เลี้ยงของเราหงุดหงิดง่าย จึงมักไปทะเลาะกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ และนอกจากนี้ แม้ว่าชื่อโรคจะพุ่งเป้าไปที่สุนัข แต่การระบาดนั้นครอบคลุมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ด้วยครับ โดยเฉพาะน้องแมว หรือแม้แต่น้องวัว น้องควาย ก็สามารถติดได้เช่นกันครับ
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงมาก หากได้รับเชื้อแล้วป่วย ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยง ก็ไม่มีทางรักษาครับ ดังนั้นการป้องกันจึงสำคัญมาก วิธีการง่าย ๆ คือ พาสัตว์เลี้ยงของเราไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครับ วัคซีนโรคนี้เป็นวัคซีนที่เรียกได้ว่าราคาถูกที่สุดในบรรดาวัคซีนทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายครับ อีกวิธีการคือ ระวังอย่าให้สัตว์เลี้ยงของเราไปเล่น หรือคลุกคลีกับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คุณเจ้าของคงนึกสงสัยว่า แล้วสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามีอาการอย่างไร อาการแบ่งออกได้ 3 ระยะครับ
ระยะเริ่มได้รับเชื้อ
สัตว์ป่วยมักแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร พฤติกรรมเปลี่ยน บางตัวจะมีการขยายของรูม่านตาแบบชัดเจน
ระยะตื่นเต้น
ในระยะนี้สัตว์ป่วยเริ่มแสดงอาการทางประสาท จะไวต่อการกระตุ้นจากสิ่งรอบข้างอย่างมาก ตื่นเต้น ตกใจ หงุดหงิด ดุร้าย กระวนกระวายมากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด ระยะนี้เป็นระยะที่สัตว์ป่วยโดยเฉพาะสุนัข มักกัดแทะสิ่งของ กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า โดยเฉพาะสัตว์หรือคนแปลกหน้า อันเป็นระยะที่มีการติดต่อของโรคนั่นเอง นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอัมพาตของกล่องเสียง ทำให้เสียงเห่าหอนแปลกไปจากปกติ บางตัวจะมีน้ำลายไหล ซึ่งในน้ำลายจะมีตัวเชื้อไวรัสอยู่เป็นจำนวนมาก และพบการอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน และการเคี้ยว ทำให้การเคี้ยว หรือการกลืนลำบาก แม้แต่การกินน้ำก็ตาม หากเอาน้ำไปให้ในระยะนี้สุนัขอาจจะแสดงอาการหงุดหงิด กลัวที่จะต้องกินหรือสัมผัสกับน้ำ ในบางครั้งจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคกลัวน้ำนั่นเอง
ระยะอัมพาต
ระยะนี้เป็นระยะสุดท้ายของสัตว์ป่วย กินระยะเวลาสั้น ๆ จะเริ่มจากการอัมพาตของกล้ามเนื้อขา ทำให้ลุกเดินไม่ได้ อ่อนแรง จากนั้นเกิดการอัมพาตทั่วร่างกาย และเสียชีวิตในที่สุด
ในสัตว์ป่วยบางราย อาจแสดงอาการแตกต่างจากที่กล่าวมา โดยมีระยะตื่นเต้นที่สั้นมาก จึงมักไม่พบอาการดุร้ายผิดปกติ แต่จะพบระยะอัมพาตที่ยาวนานแทน จึงแสดงอาการเพียงอ่อนแรง นอนซม และเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากที่คุณเจ้าของสัตว์จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์ของเราไปสัมผัสกับสัตว์ป่วยแล้ว ในกรณีที่สัตว์ของเราแอบออกไปเล่นนอกบ้าน คุณเจ้าของก็ต้องสังเกตอาการสัตว์ของเราด้วย หากมีประวัติไปสัมผัสสัตว์ต้องสงสัย และมีอาการดังที่กล่าวมา ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ หากสัตวแพทย์สงสัยการติดโรคนี้ อาจแนะนำให้ทำการขังสัตว์เลี้ยงไว้ประมาณ 10 วัน เพื่อสังเกตอาการ และหากตายภายใน 10 วัน จะต้องส่งซากไปชันสูตรเพื่อยืนยันการติดโรคพิษสุนัขบ้า
⦁ โรคลมแดด (Heat stroke)
โรคลมแดด หรือ heat stroke เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในหน้าร้อน เป็นภาวะที่อุณหภูมิร่างกายของสัตว์สูงมากกว่าปกติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการมีไข้ โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นมักมาจากสิ่งแวดล้อม หรือความร้อนที่สร้างขึ้นภายในร่างกาย โรคลมแดดมักเกิดขึ้นกับ สุนัข โดยเฉพาะในสุนัขสายพันธุ์ที่ขนยาว และหนา หรือสายพันธุ์หน้าสั้น เนื่องจากสุนัขเป็นสัตว์ที่มีต่อมเหงื่อน้อยมากเมื่อเทียบกับมนุษย์ โดยมักพบแค่ในบางบริเวณ เช่น อุ้งเท้า เท่านั้น การระบายความร้อนจากร่างกายของสุนัขผ่านต่อมเหงื่อจึงเกิดขึ้นได้ไม่ดีนัก ต้องมีการระบายผ่านทางเดินหายใจ โดยการหอบ และการแลบลิ้นร่วมด้วย ดังนั้นในหน้าร้อน เมื่อสุนัขได้สัมผัสหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อน อากาศไม่ถ่ายเทเป็นระยะเวลานาน หรือแม้แต่การออกกำลังกายกลางแจ้ง จะทำให้อุณหภูมิร่างกายของสุนัขสูงขึ้นกว่าปกติ หากระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ทัน จะเกิดภาวะที่เรียกว่า โรคลมแดด หรือ heat stroke นั่นเอง
สุนัขที่เป็นโรคลมแดด จะแสดงอาการ หายใจหอบ และหายใจเร็ว น้ำลายไหลเยอะ มีภาวะขาดน้ำ เยื่อเมือกจะมีสีแดง มีอาการช็อก หมดสติ หากอุณหภูมิของร่างกายสูงมาก อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานล้มเหลว และถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้นในหน้าร้อนนี้ เจ้าของจะต้องจัดหาที่พัก และที่นอนของสัตว์เลี้ยงให้มีอากาศถ่ายเท มีอุณหภูมิที่เหมาะสมให้กับสัตว์เลี้ยง จัดหาน้ำไว้ให้กินอย่างเพียงพอ งดกิจกรรมกลางแจ้งในเวลาแดดจัด และหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง หากมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรรีบพาไปพบสัตว์แพทย์ใกล้บ้านโดยด่วนครับ
⦁ โรคผิวหนังอักเสบจากความอับชื้น (Hot spot)
อีกโรคที่ชายหมอ(หมา) อยากจะกล่าวถึงก็คือ โรคผิวหนังนั่นเอง โดยในหน้าร้อนแบบนี้จะมีโรคผิวหนังแบบหนึ่งซึ่งพบได้บ่อย เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบจากความอับชื้น หรือที่รู้จักกันในนาม โรค hot spot นั่นเอง โรคนี้แท้จริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล แต่ในฤดูร้อนนั้นมีอุณหภูมิ และความชื้นที่สูง การระบายอากาศไม่ดี ประกอบกับพฤติกรรมและการดูแลที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะสุนัขที่มักจะคลายร้อนด้วยการไปเล่นน้ำ หากเจ้าของไม่ได้ดูแลอาบน้ำ เป่าขนและแปรงขนให้แห้ง จะทำให้เกิดการอับชื้นตามตัวสัตว์ได้ง่าย ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบตามมานั่นเอง นอกจากนี้การที่สัตว์อยู่ในอากาศร้อน ๆ เป็นเวลานาน ๆ ก็ทำให้ตัวสัตว์นั้นเกิดความเครียด ส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน
โรคผิวหนังอักเสบจากความชื้นนั้น มักแสดงอาการ มีรอยโรคเป็นวงหรือเป็นหย่อม ๆ ที่ผิวหนัง โดยรอยโรคมักมีลักษณะเยิ้ม หรือเป็นแผลแฉะ ๆ จากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือกลุ่มเชื้อยีสต์ ในบางครั้งจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคผิวหนังอักเสบแบบชื้นแฉะ (moist dermatitis) โดยปกติแล้วการติดเชื้อที่ผิวหนังของโรคนี้มักเกิดขึ้นในระดับที่ไม่ลึกมาก แต่ก่อให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง สัตว์ป่วยมักจะเลีย และเกาที่ตำแหน่งของรอยโรคอย่างรุนแรง บางรายถึงขึ้นเลือดอาบตัวเลยก็มี การเลียและเกาดังกล่าวส่งผลทำให้การติดเชื้อนั้นรุนแรง และลุกลามมากขึ้น ทำให้การรักษาให้หายนั้นยากตามไปด้วย นอกจากความอับชื้น และการติดเชื้อแล้ว ยังอีกอีกหลายปัจจัยที่โน้มนำให้เกิดโรคนี้ เช่น ภาวะภูมิแพ้ต่อน้ำลายหมัด ภูมิแพ้อาหาร การระคายเคือง เป็นต้น
โรคผิวหนังอักเสบจากความชื้นนั้นเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้เพียงแค่เจ้าของต้องสละเวลาในการดูแลความสะอาดของขน และผิวหนังให้กับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย และหากพบรอยโรคดังที่กล่าวมานี้ควรรีบพาไปรักษากับสัตวแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพราะหากสามารถจัดการกับอาการคันได้ ให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม โรคก็จะไม่ลุกลามและหายได้โดยใช้เวลาไม่นานนั่นเอง
หวังว่าเรื่องราวที่นำมาแบ่งปันกันในตอนนี้ จะช่วยให้คุณเจ้าของทุกท่านได้ข้อมูลเพิ่มเติมในการดูแลสัตว์เลี้ยงของเราให้มีสุขภาพดี ปลอดจากการป่วยเป็นโรคต่างๆตลอดหน้าร้อนนี้นะครับ
สำหรับตอนนี้ชายหมอ(หมา) คงต้องขอลาไปก่อนนะครับ แล้วพบกันในตอนต่อไป
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)