อยากมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเองเริ่มต้นอย่างไร ?
อยากมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเองควรเริ่มต้นอย่างไรดี
ตอนที่ 1
เริ่มต้นที่ถามตัวเองก่อนว่า พร้อมที่จะเสียสละ ดูแลอีกหนึ่งชีวิต (หรือมากกว่า) หรือยัง?
สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราพบกันเป็นครั้งแรก ขออนุญาตแนะนำตัวก่อนนะครับ ผม คือ ชายหมอ(หมา) สัตวแพทย์ผู้รัก และห่วงใยในสัตว์เลี้ยง ซึ่งนั่นก็คือเพื่อนร่วมโลกของพวกเรานั่นเองครับ
ต่อจากนี้ผมจะขอรับหน้าที่นำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์มาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้กับคุณผู้อ่านทุกท่านนะครับ
สำหรับเรื่องแรก ที่จะนำมาแบ่งปันในตอนนี้
เชื่อว่าคงเป็นคำถามที่ติดค้างในใจของคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านทีเดียว เคยไหมครับ? ที่เวลาไปเจอน้องหมา หรือแมวน่ารัก ๆ ของคนอื่นแล้วคิดว่า อยากมีเป็นของตัวเองบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน...ก็เกิดคำถามในใจว่า การจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเองสักตัวเนี่ย มันควรจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ขอบอกเลยครับว่า การจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัวให้ดี ให้น่ารักนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ แทบไม่ต่างจากการเลี้ยงลูกเลยทีเดียว
อันดับแรก.....
ชายหมอ(หมา) อยากแนะนำว่า ให้ทุกคนที่อยากเลี้ยงสัตว์ ถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนเลยครับว่า คุณพร้อม หรือยังที่จะต้องสละเวลา ความเอาใจใส่ และเงินทอง ให้กับสัตว์เลี้ยงของเรา บางคนอ่านประโยคนี้ของชายหมอ(หมา) แล้วอาจจะเผลอมองบน และทำปากเบี้ยวแบบพี่กิ๊ก สุวัจนี หาว่าชายหมอเว่อร์มาก กะแค่การเลี้ยงหมา เลี้ยงแมวสักตัว มันจะต้องทุ่มเทอะไรนักหนา แค่เอาเศษอาหารเหลือ ๆ เทให้กินไปวัน ๆ ก็จบ มันก็โตเองได้ตามธรรมชาติ เห็นไหมหมาจรจัด แมวจรจัด ข้างถนนคุ้ยขยะกิน ก็ยังขยายพันธุ์ยั๊วะเยี่ยะ เต็มไปหมด ประเด็นนี้ชายหมอ(หมา) ขอไม่เถียงละกันครับ แต่ขออนุญาติแนะนำว่า อย่าเลี้ยงสัตว์เป็นของตัวเองเลยครับ คุณยังไม่พร้อม หากเป็นไปได้ช่วยทำบุญ ทำทานกับสุนัขหรือแมวจรจัดเป็นครั้งคราวน่าจะเหมาะสมกว่าครับ เหตุผลที่ชายหมอตอบแบบนี้ก็เพราะว่า การมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเองนั่นหมายถึง คุณคือเจ้าของชีวิต คุณคือเจ้านาย และคุณคือครอบครัวของน้องหมาหรือน้องแมวตัวนั้น มันจึงเป็นภาระและหน้าที่ของคุณที่จะต้องดูแลเลี้ยงดูเค้าเหล่านั้น ให้มีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม
คำถามต่อมาก็คือ คำว่าคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม คือ อย่างไร
คุณผู้อ่านต้องลองย้อนถามตัวเองกลับครับว่า คุณเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นในสถานะอะไร สถานะที่คุณเลือกให้แก่พวกเค้า จะเป็นตัวกำหนดหน้าที่ที่คุณต้องปฏิบัติต่อเค้านั่นเอง
- โดยคุณอาจจะเลี้ยงไว้เพียงเพื่อเอาไว้เป็น ตัวคอยกินเศษอาหารในบ้าน
- เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงเฝ้าบ้าน
- เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน
- คนบางกลุ่ม อย่างเช่น คุณแม่ของชายหมอ(หมา)เอง เลี้ยงสุนัขไว้เป็นลูก เป็นเสมือนคนในครอบครัว
คุณแม่จะใช้สรรพนามแทนตัวสุนัขของท่านว่า “ลูก” (ชื่อ จีจี้) และให้ชายหมอ(หมา) เรียก จีจี้ ว่า “น้อง” จนบางทีชายหมอก็งงว่า จีจี้เป็นคน หรือ ชายหมอ(หมา) เป็นสุนัขกันแน่นะ ทำไมดูเป็นครอบครัวสายเลือดเดียวกัน แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ ได้คำตอบหรือยังว่าคุณต้องการเลี้ยงสัตว์สักตัวไว้ในสถานะอะไร พอได้คำตอบแล้วว่าเลี้ยงสัตว์ในสถานะไหน ความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงก็จะเกิดขึ้นตามสถานะนั้น (เหมือนสไปเดอร์แมนไงครับ อำนาจอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ! เอ่อ เรื่องเดียวกันมั๊ย)
การดูแล เอาใจใส่ การเสียสละทั้งเวลาหรือเงินทองก็จะเป็นไปตามสถานะนั้นเช่นกันครับ
สมัยชายหมอยังทำงานประจำที่โรงพยาบาลสัตว์ พบเจอเจ้าของสัตว์หลายประเภทมาก มีตั้งแต่เจ้าของที่ยอมทุ่มเททุกอย่าง เสียเงินเท่าไหร่ไม่ว่า คุณหมอให้ทำอะไร ดูแลอะไรก็ทำหมด เรียกสัตว์เลี้ยงว่า “ลูก”ทุกคำ เพราะเค้าเลี้ยงสัตว์และให้ความสำคัญเสมือนเป็นคนในครอบครับ ในขณะที่บางคน ให้ทำอะไรก็ไม่ทำ แม้กระทั่งวัคซีนยังไม่อยากควักเงินตัวเองจ่าย รอเทศบาลแถวบ้านเค้ามาฉีดฟรีให้ดีกว่า อันนี้ก็แล้วแต่จะเลือกเลยครับ ชายหมอ(หมา) ไม่ได้คาดหวังให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนจะต้องทุ่มเทให้สัตว์อย่างเต็มที่ จนตัวเองยอมอดมื้อกินมื้ออะไรขนาดนั้นครับ แค่ให้พวกเค้าในสิ่งพื้นฐานที่สมควรได้ ประกอบด้วย อาหารที่มีคุณค่าครบตามร่างกายเค้าต้องการ จะถูก จะแพง อาหารเม็ด หรือทำเองก็ตามสะดวก สิ่งถัดมา คือการป้องกันโรค เช่น วัคซีน ยาถ่ายพยาธิ หรือแม้แต่การทำหมันเพื่อควบคุมจำนวนประชากร จัดที่พักอาศัยให้อยู่อย่างเหมาะสม กันแดด กันฝนและสิ่งสุดท้าย คือ เวลา....เจ้าของสัตว์ควรให้เวลากับสัตว์เลี้ยง เล่นกับเค้าบ้าง อาบน้ำให้บ้าง แปรงขน พาไปเดิน วิ่งออกกำลังกายบ้าง ให้สมกับที่พวกเค้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์ของพวกเรา ไม่ว่าคุณจะเห็นเค้าเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสมาชิกในครอบครัวก็ตาม
ชายหมอ(หมา) เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงมีคำตอบของคำถามแรกในใจกันแล้ว หากคำตอบนั้นคือ ไม่ ก็อย่าเพิ่งรับน้องหมาหรือน้องแมวมาเลี้ยงให้เป็นภาระของตัวเอง หรืออาจจะกลายเป็นภาระสังคมในวันข้างหน้าเลยครับ แต่หากคำตอบนั้น คือ พร้อม ก็รอติดตามเรื่องราวที่จะนำมาแบ่งปันในตอนต่อไปได้เลยครับ ชายหมอ(หมา) รับรองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านแน่นอนครับ สำหรับตอนนี้ชายหมอ(หมา)ต้องขอลาไปก่อน จนกว่าจะพบกันใหม่
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)