Blog

บทความน่ารู้

โรคฉี่หนู ภัยเงียบในหน้าฝนของสัตว์เลี้ยง


สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันกับชายหมอ (หมา) อีกเช่นเคย เรื่องราวน่ารู้ที่จะนำมาแบ่งปันกันในตอนนี้ เกี่ยวข้องกับภัยร้ายที่แฝงตัวมาในช่วงฤดูฝนอย่างเงียบ ๆ แต่หากน้องหมา น้องแมว ตัวไหนได้เจอกับมันเข้าละก็ เจ้าของคงเครียดกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยทีเดียวครับ ภัยที่ว่านั้นก็คือ โรคฉี่หนูนั่นเอง 

หลายท่านที่ไม่เคยรู้จักโรคนี้มาก่อนอาจจะงงว่า โรคฉี่หนู น่าจะเกี่ยวข้องกับหนูชนิดต่าง ๆ  สิ ไม่น่าจะเกี่ยวกับน้องหมา น้องแมวนะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มเลปโตสไปร่า (Leptospira)  

ส่วนคำว่า “ ฉี่หนู ” เป็นเพียงชื่อโรคครับ ได้มาจากการศึกษาในช่วงแรก ๆ พบว่าหนู หรือสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ เป็นตัวแพร่กระจายโรค โดยสัตว์พวกนี้จะมีเชื้อโรคอยู่ที่ไต และขับออกมาสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางปัสสาวะ หรือฉี่ นั่นเองครับ โรคนี้สามารถติดคน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น สุนัข แมว วัว เป็นต้น

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านเริ่มกังวลใช่ไหมครับว่า...น้องหมา น้องแมวของเราจะเป็นโรคนี้หรือเปล่านะ จะติดมาจากทางไหนได้บ้าง การติดเชื้อของโรคนี้ สามารถติดได้โดยตรงจากการสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อ หรือเชื้อที่ปนเปื้อนมากับสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล หรือรอยขีดข่วนที่ผิวหนัง และเยื่อเมือก โดยเฉพาะในหน้าฝน เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคค่อนข้างมากเนื่องมาจาก ฝนที่ตกจะชะล้างเอาสิ่งสกปรก เชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงปัสสาวะ หรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อเลปโตสไปร่า มารวมกันในบริเวณที่มีน้ำขัง เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรา หรือ แม้แต่เจ้าของเอง หากไปสัมผัสโดยตรงกับน้ำขังที่มีเชื้อโรคดังกล่าว ก็อาจติดโรคได้นั่นเอง จะเห็นได้ว่านอกจากที่โรคฉี่หนูจะสามารถติดมาที่สัตว์เลี้ยงของเราได้แล้วนั้น ความน่ากลัวอีกอย่าง ก็คือ การที่มันเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนครับ 

มาถึงอาการกันบ้าง น้องหมา น้องแมว ที่ติดเชื้อนี้จะแสดงอาการอย่างไรบ้าง ชายหมอ(หมา) ต้องขอบอกเลยครับว่า หลาย ๆ อาการที่สัตว์เลี้ยงของเราจะแสดงออกเมื่อป่วยเป็นโรคฉี่หนูนั้น ไม่ได้มีความจำเพาะต่อโรคฉี่หนูแต่อย่างใดครับ และอาจยังอาจแสดงอาการได้ในหลาย ๆ ระบบอวัยวะ โดยอาการที่สัตว์ป่วยแสดงออกนั้น อาจจะมีตั้งแต่เล็กน้อย เช่น ซึม เบื่ออาหาร อ่อนแรง มีไข้ บางตัวมีอาการอาเจียน เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เริ่มมีอาการดีซ่าน (Jaundice)  การหายใจลำบากจากกลุ่มอาการเลือดออกในปอดจากโรคฉี่หนู (Leptospiral pulmonary haemorrhagic syndrome) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ครับ หากสัตว์เลี้ยงของเราแสดงอาการเหล่านี้ ร่วมกับการมีประวัติก่อนหน้าจะแสดงอาการว่า มีบาดแผลตามตัวและไปเล่นน้ำสกปรกที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนู ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์พร้อมกับเล่าประวัติเหล่านี้ด้วยนะครับ เพื่อที่คุณหมอจะได้สงสัย และทำการตรวจวินิจฉัยโรคนี้ไว้ด้วยนั่นเอง

ในส่วนของการป้องกัน ในปัจจุบันเรามีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันโรคฉี่หนูใช้ครับ โดยที่นิยมใช่ในประเทศไทย เป็นวัคซีนสำหรับสุนัข โดยมักจะเป็นส่วนผสมหนึ่งของวัคซีนรวมนั่นเอง หากเจ้าของน้องหมาท่านใด ฉีดวัคซีนรวม และกระตุ้นทุกปี ก็หมายความว่าได้รับวัคซีนโรคนี้อยู่แล้วครับ แต่แม้ว่าน้องหมาของเราจะได้รับวัคซีนป้องกัน แต่ยังไม่อาจวางใจได้นะครับเพราะตัวเชื้อที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีนนั้น อาจไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคฉี่หนูได้ครอบคลุมทุก Serovas ที่ระบาดในประเทศไทย อีกปัญหาหนึ่งก็คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อเลปโตสไปร่านั้น มีรายงานบ่อย ๆ ว่าอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เจ้าของหรือคุณหมอบางท่านอาจเลือกที่จะเอาวัคซีนส่วนนี้ออกจากวัคซีนรวมที่ฉีดให้แก่น้องหมา จากเหตุผลเหล่านี้เจ้าของจึงยังคงจำเป็นต้องคอยเอาใจใส่น้องหมาอยู่เป็นประจำครับโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนแบบนี้  

ส่วนในแมวยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ฉีดในบ้านเราจึงยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ รวมถึงพฤติกรรมที่ชอบเล่นกับหนู หรือชอบออกไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ที่ต้องคอยสังเกตด้วยครับ

สำหรับในตอนนี้ ชายหมอ(หมา) ก็ต้องขอลาไปก่อน อย่าลืมนำเอาความรู้ที่นำมาแบ่งปันกันไปประยุกต์ใช้ด้วยนะครับ แล้วน้องหมา น้องแมวของเรา ก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง จากการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าของ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าครับ 

บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1.    https://www.msdvetmanual.com/generalized-conditions/leptospirosis/leptospirosis-in-dogs
2.    https://www.msdvetmanual.com/cat-owners/disorders-affecting-multiple-body-systems-of-cats/leptospirosis-in-cats?query=Leptospirosis%20in%20cat
3.    https://www.bsava.com/Resources/Veterinary-resources/Scientific-information/Leptospirosis-vaccination