Blog

บทความน่ารู้

ธรรมชาติของกลิ่นตัวของสุนัข

กลับมาพบกันอีกเช่นเคยที่เว็บไซต์ Yippee Happy กับเรื่องราวน่ารู้สำหรับคนรักสัตว์  ที่ชายหมอ (หมา) ยินดีที่จะนำมาแบ่งปันกัน  สำหรับในตอนนี้สาระที่จะนำมาเล่าสู้กันฟัง เป็นปัญหาใกล้ตัวสำหรับคุณเจ้าของผู้เลี้ยงน้องหมาทุกท่าน รวมถึงชายหมอ(หมา)ที่ถึงแม้จะไม่ได้เลี้ยงเอง แต่ที่บ้านมีคุณแม่เป็นคนเลี้ยง....

ปัญหาที่ว่านี้ก็คือ “ กลิ่น ” ครับ กลิ่นของน้องหมานี่แหละ กลิ่นที่อยู่บนตัว กลิ่นที่ไปติดตามเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่เสื้อผ้าของเราเมื่อผ่านการเล่นด้วยกันกับสุนัขตัวโปรดนั่นเอง กลิ่นเหล่านี้ หลายท่านอาจจะเคยชินจนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่สำหรับบางคนกลิ่นนี้สร้างความรำคาญได้ไม่น้อยที่เดียวครับ วันนี้เลยจะขอมาเล่าสู่กันฟัง...


ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติของกลิ่นตัวสุนัข

ในเบื้องต้นคุณเจ้าของทุกท่านจะต้องเข้าใจก่อนว่า สุนัขทุกตัวมีกลิ่น และกลิ่นของแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งกลิ่นที่แตกต่างกันเหล่านี้ เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของสุนัขแต่ละตัวเลยก็ว่าได้ครับ ใช้สำหรับบ่งบอกเขตแดน หรือพื้นที่ของแต่ละตัว หรืออาจเรียกได้ว่ากลิ่นนั้นเปรียบเสมือนลายเซ็นเฉพาะตัว แต่มีเพียงสุนัขด้วยกันเท่านั้นที่สามารถแยกออก เนื่องมาจากการพัฒนาของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดมกลิ่นและสมอง  แต่ในคนที่ได้กลิ่นเราจะไม่สามารถแยกได้นะครับ ส่วนใหญ่มักจะบอกว่ากลิ่นน้องหมาแต่ละตัวก็เหมือน ๆ กันนั่นเอง
 

ชายหมอจะขอแบ่งกลิ่นตัวของสุนัขออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ นะครับ ได้แก่

1. กลิ่นโดยธรรมชาติ
2. กลิ่นที่เกิดจากความผิดปกติของผิวหนัง 



กลิ่นประเภทที่ 1 กลิ่นโดยธรรมชาติ คือ กลิ่นที่ถูกสร้างขึ้นโดยธรรมชาติในสุนัขทุกตัว ซึ่งโดยโครงสร้างผิวหนังของสุนัขนั้นไม่สามารถขับเหงื่อออกทั่วตัวได้แบบในคน แต่จะสามารถขับออกได้ในบางบริเวณ เช่น อุ้งเท้า ซึ่งมีรูขุมขนอยู่ ในรูขุมขนนี้เองเป็นที่อยู่ของต่อมชนิดหนึ่ง เรียกว่า apocrine gland เป็นต่อมที่เรายังไม่ทราบหน้าที่ที่ชัดเจนของมัน ทราบแต่เพียงว่าต่อมนี้สามารถสร้างสารฟีโรโมน (pheromones) หรือสารเคมีบางอย่างที่ใช้ในการสื่อสารกับสุนัขตัวอื่น ซึ่งสารที่ว่านี้ก็คือกลิ่นตัวของสุนัขแต่ละตัวครับ

 นอกจากต่อมที่อุ้งเท้าแล้วยังมี apocrine gland ที่อยู่ภายในช่องหูส่วนนอก ที่ทำหน้าที่สร้าง ear wax และจุลชีพที่อาศัยอยู่ภายในช่องหูจะเป็นตัวการที่ทำให้สารดังกล่าวมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเล็กน้อย แม้ช่องหูจะสุขภาพดีก็ตาม 
อีกต่อมที่สามารถสร้างกลิ่นได้ คือ ต่อมข้างก้น (anal sac)  โดยปกติต่อมนี้จะสร้างสารคัดหลั่งที่มีกลิ่นที่รุนแรงแต่จะถูกขับออกมาพร้อมกับการบีบตัวของทวารหนักในเวลาอุจจาระ ดังนั้นเรามักจะสังเกตเห็นได้ว่าบางครั้งสุนัขจะทำการทักทายสื่อสารกันโดยการดมที่ก้นซึ่งจะมีกลิ่นที่ต่อมนี้ติดอยู่  

สารคัดหลั่งจากต่อมข้างก้นนี้เป็นสิ่งที่เหล่าคุณหมอต่างแอบหวาดกลัวเบา ๆ เนื่องจากในบางครั้งสุนัขมักจะปล่อยต่อมนี้ออกมาเมื่อเวลาตกใจ หรือหวาดกลัว ซึ่งหนึ่งในเวลาดังกล่าวก็คือ เวลาที่เจ้าของพามาหาหมอ หรือต้องฉีดยานั่นเองครับ ความรุนแรงของกลิ่นนี่ไม่มีคำบรรยายเลยทีเดียวครับ

กลิ่นประเภทที่ 2 กลิ่นที่เกิดจากความผิดปกติของผิวหนัง  โดยความผิดปกติดังกล่าวมีตั้งแต่ การที่สุนัขซึ่งไม่ได้รับดูแลเรื่องการแปรงขน หรืออาบน้ำอย่างเหมาะสมจากเจ้าของ ทำให้มีสิ่งสกปรกมาติดตามขนซึ่งมีไขมันเคลือบอยู่ เกิดกลิ่นเหม็นขึ้นได้โดยมักพบได้บ่อย ๆ ในสุนัขขนยาว 
ความผิดปกติของผิวหนังชนิดถัดมา คือ การที่สุนัขป่วยเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง (infectious skin disease) หรือโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (allergic dermatitis)  โดยเมื่อผิวหนังมีการติดเชื้อโรคในกลุ่มแบคทีเรีย หรือเชื้อยีสต์ เชื้อดังกล่าวจะเป็นตัวการทำให้กลิ่นตัวของสุนัขนั้นรุนแรงขึ้นจากกลิ่นเดิมนั่นเอง
 
สุนัขที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังแบบเรื้อรัง เจ้าของจะได้กลิ่นเหม็นเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาจนแทบชินชาไปข้างหนึ่งกันเลยทีเดียว  ในสุนัขบางตัวที่มีลักษณะพิเศษบางอย่างเช่น สายพันธุ์ที่ผิวหนังมีการม้วนพับ (skin fold) เช่น ชาไป่ หรือ บูลด็อก (บริเวณใบหน้า) จะมีความไวต่อการที่เชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์จะเพิ่มจำนวนอยู่ภายในรอยพับเหล่านั้น ทำให้สามารถเกิดเป็นกลิ่นที่เหม็นกว่าสุนัขทั่วไปได้ และนอกจากนี้ในอวัยวะอื่น ๆ เช่น ช่องหู หากมีการติดเชื้อจนเกิดการอักเสบของช่องหู ก็จะทำให้มีการสร้างสารคัดหลัง หรือขี้หูที่ผลิตออกมามีกลิ่นที่รุนแรงได้เช่นกันครับ

สำหรับในตอนนี้ชายหมอ (หมา) ก็ต้องขอจบลงไว้เพียงเท่านี้...และเชื่อว่าหลังจากอ่านเรื่องราวที่ชายหมอเเบ่งปันไปแล้ว คุณเจ้าของทุกท่านคงพอเข้าใจธรรมชาติของกลิ่นตัวสุนัขมากขึ้นบ้าง ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนี้จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำมาใช้ในการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ในตอนหน้าชายหมอจะมาเล่าต่อถึงวิธีการดูแล และจัดการกลิ่นเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพอย่าลืมรอติดตามกันนะครับ

บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)