รูปแสดง วัฏจักรการเจริญของเส้นขน (hair growth cycle)
วัฏจักรการเจริญของเส้นขนในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขนั้นมีความแตกต่างจากของมนุษย์ โดยในมนุษย์พบว่าระยะ Anagen phase จะกินระยะเวลายาวนานที่สุดประมาณ 3-7 ปี ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสุนัขบางสายพันธุ์ที่ต้องการการตัดขนเป็นประจำ เช่น สายพันธุ์ Poodle ในขณะที่สุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ ระยะ Anagen phase จะใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่ก็เพียงพอให้เส้นขนเจริญจนได้ความยาวตามลักษณะทางพันธุกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ไปจนถึง 1 ปีหรือมากกว่า และระยะ Telogen phase จะมีความโดดเด่นขึ้นมาแทน ใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น ในสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดที่เขตหนาว อาจพบระยะ Telogen phase กินเวลาหลายปีเลยทีเดียว แม้ว่าเส้นขนของสุนัขจะอยู่ในระยะพัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเส้นพร้อมจะร่วงทันที ต้องมีการเจริญของเส้นขนใหม่มาแทนที่เสียก่อน เส้นขนเก่าจึงจะหลุดร่วงออกมานั่นเอง
เราได้รู้จักกับวัฏจักรการเจริญของเส้นขนกันไปแล้วนะครับ และเราก็ได้รู้ว่าเส้นขนของสุนัขนั้นมีการหลุดร่วงออกมาทุกวัน ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรการเจริญเติบโตของเส้นขน ปริมาณการร่วงก็ขึ้นอยู่กับลักษณะทางพันธุกรรมของขนแต่ละสายพันธุ์นะครับ แต่มีข้อสังเกตคือ การหลุดร่วงของขนแบบนี้ จะไม่ร่วงมากจนทำให้สุนัขดูขนบางลงอย่างผิดสังเกต เพราะการที่ขนเก่าจะร่วงนั้น ต้องมีขนใหม่เจริญมาทดแทนทันทีนั่นเอง
การผลัดขน (seasonal shedding) เป็นกระบวนการที่ควบคุมโดยพันธุกรรม ร่วมกับมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมาส่งเสริมให้การควบคุมโดยพันธุกรรมนั้นแสดงออกได้อย่างเด่นชัด ซึ่งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ก็คือ ช่วงแสงระหว่างวัน (photoperiod) และ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตามฤดูกาล (seasonal changes of temperature) โดยทั้งสองปัจจัยนี้จะมีผลกระทบต่อวัฏจักรการเจริญของเส้นขนปกติ ทำให้มีการหลุดร่วงของเส้นขนมากขึ้นนั่นเอง
การผลัดขนนั้นจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยอาจกินเวลาประมาณ 2-5 สัปดาห์ จากนั้นก็จะมีขนใหม่เจริญขึ้นมาแทนที่จนปกคลุมทั่วร่างกายใช้เวลาประมาณ 14-18 สัปดาห์ มีผลการศึกษาที่น่าสนใจกล่าวว่า สุนัขพันธุ์ขนสั้นจะมีการผลัดขนตลอดทั้งปี ไม่มีช่วงเวลาที่ผลัดแบบเด่นชั้น ตรงข้ามกับสุนัขพันธุ์ขนยาว จะผลัดขนอย่างชัดเจนที่ปีละ 1-2 ครั้ง โดยสุนัขที่เลี้ยงโดยปล่อยให้ขนมีความยาวตามลักษณะทางพันธุกรรมนั้นมักจะผลัดขนในฤดูใบไม่ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ในจณะที่สุนัขที่เจ้าของมีการตัดแต่งขนเป็นประจำ มักจะมีการผลัดขนเฉพาะฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาดังกล่าวนี้ทำให้เราทราบว่าสัตว์ไม่ได้ผลัดขนแต่เฉพาะเวลาที่ใกล้จะเข้าฤดูร้อนเท่านั้น แต่มีการผลัดขนที่เป็นรูปแบบตามฤดูกาลที่แน่นอนนั่นเอง
ในตอนนี้ ชายหมอ(หมา) ก็คงต้องขอจบเรื่องเล่าลงแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าคุณเจ้าของสัตว์ทุกท่านจะมีความเข้าใจในธรรมชาติของการผลัดขน ตลอดจนวัฏจักรการเจริญเติบโตของขนเพิ่มมากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ และอย่าลืมติดตามตอนหน้าว่าชายหมอ(หมา) จะนำเรื่องอะไรมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)
ข้อมูลอ้างอิง
1. Evans HE and Lahunta AD. (2013). Miller’s anatomy of the dog 4th Ed. St. Louis, MO: Elsevier Saunders.
2. Miller WH, Griffin CE and Campbell KL. (2013). Muller and Kirk’s Small Animal Dermatology 7th Ed. St. Louis, MO: Elsevier Saunders
3. Mcgavin MD and Zachary JF. (2007). Pathologic basis of veterinary diseases 4th Ed. St. Louis, MO: Mosby Elsevier