หมัด...เพื่อนสนิทของเหล่าแมวขนฟู ตอนที่ 1
สวัสดีครับคุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน กลับมาพบกับชายหมอ(หมา) และเรื่องราวน่ารู้ที่เว็บไซต์
Yippee Happy อีกเช่นเคย ชายหมอ(หมา)เคยเล่าถึงโรคแมวข่วนไป ซึ่งเป็นโรคที่แม้โดยทั่วไปจะไม่ก่อให้เกิดอาการของโรครุนแรงมากนัก แต่ก็ควรป้องกันไม่ให้มีการติดต่อมาสู่คน โดยเฉพาะเจ้าของ(ทาส)น้องแมว ที่ต้องสัมผัสหรือเล่นกับเหล่าแมวอยู่ตลอดเวลา การติดต่อของโรคส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากหมัด
ในตอนนี้เลยจะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหมัดตัวร้ายนี้ รวมถึงการป้องกันและกำจัดให้มีประสิทธิภาพครับ
มาเริ่มทำความรู้จักกันก่อน หมัด (flea) เป็นแมลงปรสิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนตัวโฮสต์ หรือน้องแมวของเรานั่นเอง โดยดูดกินเลือดโฮสต์เป็นอาหารในโลกนี้มีหมัดมากกว่า 1000 สายพันธุ์ แต่ที่พบเป็นปัญหาหลักบนตัวแมว และสุนัข คือสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า Ctenocephalides felis หรือที่นิยมเรียกกันว่าหมัดแมว
เช่นเดียวกับแมลงทั่วไป หมัดก็มีวงชีวิตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเป็นระยะต่าง ๆ ทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ (egg), ตัวอ่อน (larva), ดักแด้ (pupa) และตัวเต็มวัย (adult)
ระยะไข่ (egg)
วงชีวิตของหมัดจะเริ่มต้นจาก หมัดตัวเมียเมื่อจะทำการวางไข่จะดูดเลือดจากโฮสต์จนอิ่ม จากนั้นจะทำการผลิตและวางไข่บนขนของโฮสต์ โดยสามารถวางไข่ได้ประมาณ 30-50 ฟองตัววัน โดยหมัดจะวางไข่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งตาย หมัดตัวเมีย 1 ตัว ตลอดทั้งชีวิตสามารถวางไข่ได้โดยเฉลี่ยประมาณ 1000 – 2000 ฟอง เคยมีรายงานว่าหมัดบางตัวสามารถวางไข่ได้สูงสุดถึง 8000 ฟอง เลยทีเดียว ไข่ของหมัดบางส่วนจะตกลงสู่พื้น เนื่องมาจากการขยับตัวของสัตว์หรือการแปรงขน และใช้เวลาประมาณ 5 วัน (2-14 วัน ขึ้นกับอุณหภูมิ และความชื้นของสิ่งแวดล้อม) เพื่อฟักเป็นระยะตัวอ่อน (larva)
ระยะตัวอ่อน (larva)
ตัวอ่อนของหมัด จะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมและกินอาหารจากสารอินทรีย์ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสะเก็ดผิวหนังที่ร่วงลงมาจากตัวแมวนั่นเอง ตัวอ่อนจะกินอาหารอยู่เป็นเวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ก็จะมีการสร้างรังไหม แล้วเข้าสู่ระยะดักแด้
ระยะดักแด้ (pupa)
หมัดจะอาศัยอยู่ในรังไหมระยะดักแด้ เป็นเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ก่อนจะออกจากรังไหม กลายสภาพเป็นตัวเต็มวัย (adult) หากได้อยู่ในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม แต่หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ระยะดักแด้อาจยาวนานได้หลายเดือน จนถึงเป็นปี โดยที่หมัดยังมีชีวิตอยู่ รังไหมของหมัดจะมีผิวที่ค่อนข้างเหนียว มักจะติดอยู่กับซอกมุมต่างๆ หรือตามพรม ซึ่งเป็นกลไกการอำพราง ทำให้บางครั้งไม่สามารถกวาดหรือกำจัดระยะดักแด้นี้ได้หมด
ระยะตัวเต็มวัย (adult)
หลังจากออกจากรังไหมในระยะดักแด้ หมัดจะมองหาโฮสต์และกระโดดขึ้นไปบนตัวโฮสต์อย่างรวดเร็ว จากนั้นภายในไม่กี่นาทีจะเริ่มต้นทำการดูดกินเลือดจากโฮสต์ หมัดตัวเต็มวัยจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนตัวสัตว์เพื่อทำการดูดเลือด ผสมพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งหมัดสามารถมีชีวิตอยู่บนตัวสัตว์ได้ตั้งแต่ 2 อาทิตย์จนถึงหลายเดือนเลยทีเดียว จากนั้นจะทำการวางไข่ และตาย เป็นการเริ่มต้นวงชีวิตรอบใหม่ไปเรื่อย ๆ
คุณเจ้าของสัตว์จะเห็นได้ว่า หมัดใช้เวลาบนตัวสัตว์สั้นมากเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้นก็สามารถจะผสมพันธุ์และวางไข่ได้แล้ว ดังนั้นเมื่อเราพบหมัดบนตัวสัตว์ของเรา นั่นเป็นไปได้ว่าอีกไม่กี่วัน จะเกิดการระบาดของหมัดที่บ้านของเราอย่างแน่นอน หากเราไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของหมัด และไม่ทำการควบคุมให้ถูกวิธี
สำหรับตอนนี้ ชายหมอ(หมา) ขออนุญาตจบตอนไว้ที่ตรงนี้ก่อน ในตอนหน้าจะมาเล่าต่อถึงอันตรายของหมัดต่อทั้งตัวน้องแมวและตัวเจ้าของเอง รวมถึงวิธีการควบคุมและกำจัดหมัดอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าลืมติดตาม แล้วพบกันครับ
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)