หมัด...เพื่อนสนิทของเหล่าแมวขนฟู ตอนที่ 2
กลับมาพบกับบทความรู้กับชายหมอ(หมา) กันเช่นเคยที่เว็บไซต์
Yippee Happy ในตอนนี้จะขอมาเล่าต่อจากตอนที่แล้วซึ่งได้แนะนำในคุณเจ้าของสัตว์ทุกท่านได้รู้จักกับ น้องหมัด เพื่อนสนิทของเหล่าน้องแมวไปพอสมควร ทั้งเรื่องข้อมูลทั่วไปรวมถึงวงชีวิตของหมัด ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างจากเห็บโดยสิ้นเชิงครับ สิ่งต่อไปที่ควรจะต้องรู้ก็คือ อันตรายจากหมัดและวิธีป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพครับ
เมื่อน้องแมว หรือน้องหมา ของเรามีหมัด หรือไปติดหมัดมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนครับ ปัญหาแรกก็คือ หมัดพวกนี้จะอาศัยอยู่บนตัวน้องแมว หรือน้องหมา พร้อมทั้งดูดกินเลือดเป็นอาหาร และยังก่อให้เกิดความรำคาญ และอาการคันอีกด้วย แต่นั่นยังเป็นแค่ปัญหาเล็ก ๆ ครับ สิ่งที่ใหญ่กว่าก็คือ สิ่งที่แฝงมากับพวกหมัดเหล่านี้นั่นเอง มีอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลยครับ
1. หมัดพวกนี้ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่ชื่อว่า Flea allergic dermatitis หรือที่นิยมเรียนกันว่า โรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้น้ำลายหมัดนั่นเอง เนื่องจากในน้ำลายหมัดนั้นมีสารก่อภูมิแพ้ (antigen) อยู่นั่นเอง หากน้องหมา หรือน้องแมวของเราแพ้สารเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดอาการคันและเกาอย่างรุนแรง จนขนร่วง เป็นแผล เชื่อไหมครับว่า น้องแมวบางตัวที่เล็บยาว ๆ เวลาคันจะเกาจนเป็นแผลลึก เลือดอาบเลยก็มี จากนั้นเมื่อมีการเกาจนเป็นแผล จะโน้มนำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ส่งผลให้อาการของโรคผิวหนังแย่ลงไปอีก รอยโรคของโรคผิวหนังชนิดนี้จะมีตำแหน่งที่ค่อนข้างจำเพาะ คือ มันพบบริเวณช่วงท้ายของลำตัวนั่นเองครับ
2. หมัดพวกนี้เป็นพาหะนำเชื้อโรคหลายชนิดมาสู่ตัวน้องแมว และเชื้อเหล่านี้บางชนิดสามารถติดต่อสู่คนที่สัมผัสได้ด้วย ที่สำคัญ ๆ เช่น
2.1 เชื้อ Mycoplasma haemofelis ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในเม็ดเลือดแดงของน้องแมว ทำให้เกิดอาการไข้ ภาวะโลหิตจาง ภาวะดีซ่าน และม้ามโต
2.2 เชื้อในตระกูล Bartonella spp. เช่น Bartonella henselae แม้ว่าในแมวจะไม่ค่อยแสดงอาการจากการติดเชื้อชนิดนี้ แต่ความสำคัญอยู่ที่ เชื้อนี้สามารถติดต่อไปยังคน ผ่านทางน้ำลายของแมว ทำให้เกิดโรคไข้แมวข่วน (Cat scratch disease) นั่นเอง
2.3 พยาธิในกลุ่ม พยาธิตัวตืด (tapeworm) เช่น Dipylidium caninum
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณเจ้าของจะเห็นว่า เจ้าหมัดตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ มีความร้ายกาจไม่เบาเลยทีเดียว และที่สำคัญการติดหมัดระหว่างแมวด้วยกันนั้นเกิดขึ้นง่ายมาก ทั้งจากปัจจัยทางพฤติกรรมที่น้องแมวชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน หรือความสามารถในการกระโดดได้ไกลของตัวหมัดเอง ดังนั้น การป้องกันที่ถูกวิธี และปฏิบัติเป็นประจำ จึงมีความสำคัญหากคุณเจ้าของไม่ต้องการให้น้องแมว หรือน้องหมา ติดหมัด จนลุกลามเป็นการป่วยที่รุนแรงครับ
วิธีการป้องกันนั้นก็ไม่ยากมีให้เลือกหลายหลายวิธีตามความสะดวก ไม่แพ้การป้องกันเห็บที่เคยเล่าไปแล้วเลยครับ แบ่งออกเป็นการป้องกันบนตัวสัตว์ และการป้องกันในสิ่งแวดล้อมนะครับ
การป้องกันบนตัวสัตว์
วิธีการป้องกันหมัดบนตัวสัตว์นั้น ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลายรูปแบบ และราคา คุณเจ้าของสามารถเลือกได้ตามความพึงพอใจเลยครับ
- ใช้แปรงซี่ถี่ ๆ แปรงขนให้น้องแมว วิธีนี้เหมาะกับกรณีที่มีหมัดไม่เยอะนะครับ และเหมาะกับแมวที่ชอบให้หวีขน ขนไม่เป็นสังกะตังมาก เพราะเวลาหวีจะทำให้น้องแมวค่อนข้างเจ็บมาก แต่วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่ พอหวีแล้ว หมัดจะตกลงสู่พื้น ปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อมครับ แม้ว่าเราจะกวาด หรือดูดฝุ่นทันทีก็ตาม อาจจะมีการกลับมาติดซ้ำได้อีก - แชมพูกำจัดเห็บหมัด มีหลากหลายยี่ห้อในท้องตลาดครับ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ในแชมพูเหล่านี้จะใส่สารในกลุ่มยาฆ่าแมลงในปริมาณที่สามารถออกฤทธิ์ได้ ดังนั้นหากจะเลือกใช้ต้องระวังเรื่องของการระคายเคือง หรือสารตกค้าง โดยส่วนตัวแล้วแนะนำให้ใช้ได้ในสุนัข แต่ในแมวไม่แนะนำครับ เนื่องจากสภาพผิวหนังที่ระคายเคืองง่ายกว่า และพฤติกรรมการเลียขนตัวเอง (grooming) จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ครับ
- ปลอกคอป้องกันเห็บหมัด ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ก็มีวางจำหน่ายในตลาดมานานแล้วเช่นกัน นิยมใช้ในสุนัขมากกว่าในแมว แต่แบบของแมวโดยเฉพาะก็มีครับ ต้องเลือกให้เหมาะสมกับชนิดและขนาดของสัตว์เลี้ยงเรา และต้องระวังเรื่องการระคายเคืองเช่นกัน เพราะมักมีส่วนประกอบของสารฆ่าแมลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องระวังอย่าให้เปียกน้ำ
- ผลิตภัณฑ์แบบสเปรย์แบบพ่นลงบนตัว แบบนี้ก็ได้ผลดี และเห็นผลเร็วทันใจ แต่เจ้าของอาจจะต้องฉีดพ่นให้ทั่วตัว และระวังการเลียครับ
- ผลิตภัณฑ์ประเภทหยดหลัง เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลดี และมีความปลอดภัยสูง แต่ราคาก็สูงตามไปด้วยเช่นกัน
- ผลิตภัณฑ์ชนิดกิน ผลิตภัณฑ์ชนิดกินที่มีทะเบียนยาถูกต้อง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับน้องแมวที่ทานยาง่าย ให้ผลดีเช่นกัน แต่ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนนะครับ ไม่ควรซื้อให้กินเอง อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ครับ
การป้องกันบนสิ่งแวดล้อม
การป้องกันหมัด หากจะให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี นอกจากการป้องกันบนตัวสัตว์แล้ว ในสิ่งแวดล้อมก็ห้ามละเลยครับ คุณเจ้าของควรทำการควบคุมหมัดไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยในบริเวณบ้าน ควรใช้วิธีดูดฝุ่นเผื่อกำจัดตัวหมัดและไข่ แล้วเอาออกไปเทในถุงที่ปิดมิดชิด หมั่นเช็ดถูบ้านเป็นประจำ โดยอาจใช้น้ำยาฆ่าเห็บหมัดที่ไม่เป็นอันตรายผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสมขณะเช็ดถูร่วมด้วย เบาะ หรือข้าวของเครื่องใช้ก็ควรล้างทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารตกค้าง แล้วนำมาผึ่งแดด ส่วนในสนามหญ้า ควรหมั่นตัดให้สั้น และทำการพ่นสเปรย์กำจัดเห็บหมัดเป็นประจำ พร้อมทั้งกักบริเวณไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราไปเล่นที่สนามหญ้าในขณะพ่นยา เพียงเท่านี้สัตว์เลี้ยงของพวกเราก็จะปลอดภัยจากพวกหมัดตัวร้ายได้อย่างแน่นอนครับ
สำหรับในตอนนี้ ชายหมอ(หมา) ก็ขอจบเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเหล่าพวกหมัดไว้แต่เพียงเท่านี้ หวังว่าคุณเจ้าของจะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับสัตว์เลี้ยงของเราอย่างสูงสุดนะครับ แล้วพบกับในตอนหน้าครับ รับรองว่ามีเรื่องราวน่ารู้มาฝากอีกแน่นอนครับ
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)