อันตรายจากโรคไลม์ (Lyme Disease)
สวัสดีครับคุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน กลับมาพบกับเรื่องราวน่ารู้จากชายหมอ(หมา) ที่เว็บไซต์
Yippee Happy กันอีกเช่นเคย ชายหมอ(หมา)เคยเล่าถึงโรคแมวข่วนไปแล้ว เชื่อว่าเหล่าทาสแมวอ่านแล้วอาจจะเกิดความกังวลกันไม่มากก็น้อย
สำหรับตอนนี้เหล่าทาสแมวสบายใจได้ครับ ถึงคิวของเจ้าของน้องหมากันบ้าง ในโลกนี้มีโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน(zoonosis) มากมายหลายโรคเลยครับ แต่โรคหนึ่งซึ่งเป็นกระแสในวงการสัตวแพทย์บ้านเราช่วงนี้คงหนีไม่พ้น โรคไลม์ (Lyme Disease)
คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงคงสงสัยว่า ทำไมโรคนี้ถึงเป็นกระแสไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจครับ เพราะชายหมอ(หมา)เองก็ไม่เคยพบสัตว์ป่วย หรือผู้ป่วยด้วยโรคนี้มาก่อนเป็นโรคที่เรียนเฉพาะในตำราเท่านั้น เพราะตามหลักการทางระบาดวิทยาแล้ว โรคนี้ไม่ได้ระบาดในประเทศไทย หรือประเทศรอบข้าง แต่ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ กลับมีรายงานผู้ป่วยเป็นโรคไลม์ รายแรกของไทยเป็นหญิงวัย 47 ปี ที่เพิ่งกลับจากการไปเที่ยวประเทศตุรกี แล้วมีอาการป่วยแม้ว่าจะรักษาได้ แต่ก็สูญเสียความทรงจำไปบางส่วน อาการของโรคสร้างความประหลาดใจให้แก่วงการสาธารณสุขบ้านเราค่อนข้างมาก ถึงขนาดมีบางท่านคิดว่าเป็นโรคอุบัติใหม่เลยทีเดียว แต่แท้จริงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่แต่อย่างใด เป็นโรคที่มีมานานแล้วครับ
มีรายงานการพบผู้ป่วยรายแรก แน่นอนว่าอาจจะมีรายต่อ ๆ ไปตามมาอีกในไม่ช้า ชายหมอ(หมา)เลยจะขอมาแบ่งปันให้ฟังสักเล็กน้อยเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อที่คุณเจ้าของสัตว์จะได้รู้เท่าทัน และป้องกันตัวเองจากการติดโรคนี้ได้ครับ
โรคไลม์ (Lyme Disease) เป็นโรคติดเชื้อ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในตระกูล Borrelia spp. โดยมีเห็บเป็นพาหะนำโรค โรคนี้สามารถพบได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข โค ม้า สัตว์ป่า หรือสัตว์ตระกูลฟันแทะต่าง ๆ และสามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านทางการถูกกัดโดยเห็บที่มีเชื้อนี้ โรคไลม์มีการระบาดในหลายประเทศทั่วโลก โดยมากเป็นแถวอเมริกาเหนือ ยุโรป รัสเซีย และเอเชียแถบประเทศจีน สำหรับในประเทศไทยเรา ไม่เคยมีรายงานการป่วยเป็นโรคนี้ทั้งในคนหรือในสัตว์ โดยในคนไข้รายแรกนี้ จากการพิจารณาประวัติจะเห็นว่ามีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อมาจากการไปเที่ยวต่างประเทศนั่นเองครับ
โรคนี้มีอาการอย่างไร
เริ่มจากในสัตว์ก่อนนะครับ เมื่อสัตว์มีการติดเชื้อโรคไลม์โดยเฉพาะสุนัขจะแสดงอาการขากะเผลก ข้อต่อบวมและอักเสบ โดยมักพบที่ข้อศอกขาหน้าและข้อเข่า อาจพบอาการมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต ในสัตว์ป่วยที่เป็นแบบเรื้อรัง อาจพบปัญหาที่ไต และหัวใจ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้บางรายงานยังให้ข้อมูลว่าอาจมีผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการชัก และอัมพาตของใบหน้าได้ (facial paralysis)
ส่วนในคนสามารถติดโรคไลม์ได้ โดยการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง นั่นคือถูกกัดจากเห็บที่มีเชื้อนี้ ซึ่งอาการจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ
- ระยะแรกของการติดเชื้อ เกิดขึ้นภายหลังจากโดนเห็บกัด 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดข้อ พบผื่นแดงเป็นวง (Erythema Migrans) ตั้งแต่ 1 แห่งขึ้นไป
- ระยะแพร่กระจาย จะเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อประมาณ 3 – 10 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการในหลายระบบ เช่น ปวดบวม ม้ามโต ตับอักเสบ ตาอักเสบ บริเวณข้อต่อโดยเฉพาะหัวเข่า พบถุงน้ำด้านหลังหัวเข่า (Baker’s cyst) การทำงานของหัวใจผิดปรกติ ไขสันหลัง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบปัญหาด้านความจำ และอาจพบการอัมพาตบริเวณใบหน้า
- ระยะสุดท้าย เป็นระยะแฝงของโรค พบการอักเสบของข้อต่อขนาดใหญ่ เช่น หัวเข่า พบความผิดปรกติของระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย เช่น การอักเสบเฉียบพลันของไขสันหลัง อาการชัก อัมพาตครึ่งซีก พบความผิดปกติทางสมอง บางรายอาจสูญเสียการได้ยิน และอาจพบการอักเสบของผิวหนังบริเวณหลังมือ เท้า หัวเข่า ข้อศอก (acrodematitis chronica atrophicans)
ได้รู้จักโรคไลม์ไปพอสังเขปแล้ว ชายหมอ(หมา) เชื่อว่าคุณเจ้าของหลายท่านคงเริ่มรู้สึกกังวล และอยากรู้วิธีการป้องกันตัวเองแล้วใช่ไหมครับ ?...
ชายหมอ(หมา) ขออธิบายแบบนี้นะครับ ในปัจจุบันนี้โรคไลม์ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่นที่มีการระบาดในประเทศเรา ดังนั้นการถูกเห็บของน้องหมาเรากัด ไม่สามารถทำให้เราป่วยเป็นโรคนี้ได้ครับ แต่การป้องกันเห็บก็ยังคงต้องทำนะครับ แต่โรคนี้จัดเป็นโรคที่สามารถติดได้หลังจากการท่องเที่ยว (travel-related diseases) เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายแรกในไทย ดังนั้นเมื่อคุณเจ้าของเดินทางไปในแถบประเทศที่โรคนี้มีการระบาดอยู่ คุณเจ้าของต้องระวังไม่ให้ถูกพวกเห็บ หรือแมลงอะไรก็ตามมากัดที่ผิวหนังของเรา และหากท่านใดไปต่างประเทศกลับมาแล้วมีอาการที่สัมพันธ์กับรายละเอียดที่ชายหมอ(หมา)ได้เล่าไว้ ควรรีบไปพบแพทย์ และเล่าประวัติการไปต่างประเทศของเราให้คุณหมอฟังด้วยครับ โรคนี้จะได้เป็นหนึ่งในโรคที่ต้องวินิจฉัยนั่นเอง
สุดท้ายนี้หากคุณเจ้าของท่านใดจะนำเข้าน้องหมามาจากต่างประเทศ อย่าลืมตรวจโรคนี้ก่อนนำเข้าประเทศครับ ไม่เช่นนั้นจะเราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่กระจายโรคเสียเอง และวันหนึ่งข้างหน้า โรคนี้จากที่เคยเป็นเพียงโรคที่อาจติดได้หลังการท่องเที่ยว อาจกลายมาเป็นโรคประจำถิ่นในบ้านเราได้ครับ
หวังว่าเรื่องราวที่นำมาแบ่งปันในตอนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ และช่วยเตือนให้คุณเจ้าของระมัดระวังมากขึ้นนะครับ จะได้ไม่ต้องเจ็บป่วยหลังจากไปเที่ยวกลับมา รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงของเราก็ไม่เสี่ยงต่อการติดโรคเช่นกัน แล้วพบกันในตอนต่อไปครับ
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)