สัตว์เลี้ยงกับเสียงประทัด
สวัสดีครับ คุณผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้ใกล้เทศกาลวันลอยกระทงกันแล้ว รอบตัวพวกเราจะเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการจุดประทัด หรือการเล่นดอกไม้ไฟนั่นเอง ซึ่งคนเราเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง เป็นสิริมงคล แต่สิ่งที่มักจะมาพร้อมกันก็คือ ความหวาดกลัวประทัดของเหล่าน้องหมาน้องแมวนั่นเอง
ชายหมอ(หมา) มั่นใจว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายท่านคงเคยเจอปัญหานี้แน่นอน ในตอนนี้ชายหมอจะขอให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการปัญหานี้เองครับ
ทำไมสัตว์เลี้ยงจึงกลัวประทัด
คำถามนี้อาจจะอธิบายยากสักหน่อย แต่ชายหมอ(หมา) จะขอตอบแบบนี้ครับ การกลัวประทัดของสัตว์นั้น จะเป็นผลมาจากการหวาดกลัวเสียงดังที่เกิดจากการระเบิด ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของสัตว์ครับ
หากคุณผู้อ่านลองสังเกตให้ดี จะพบว่าเราสามารถใช้เสียงในการควบคุมสัตว์ได้ เช่นเวลาสุนัขซนมาก ๆ หากเจ้าของดุด้วยเสียงดัง สุนัขก็จะหยุดทันที หรือเวลาเราเคาะหรือตีอะไรเสียงดัง สุนัขก็จะตกใจนั่นเองครับ
แต่เสียงดังจากการระเบิดของประทัดนั้นไม่เพียงแต่ทำให้สัตว์เกิดความหวาดกลัว (panic) แต่ยังอาจส่งผลต่อประสาทการได้ยินของสัตว์อีกด้วยครับ นอกจากเสียงแล้ว ภาพประทัด หรือดอกไม้ไฟ ที่สัตว์มองเห็นเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นตา ดูน่าประหลาด อาจทำให้สัตว์กลัวหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยได้เช่นกันครับ
เมื่อสัตว์เลี้ยงกลัวประทัดจะแสดงอาการอย่างไร
อาการที่สัตว์แสดงออกนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละตัว บางตัวอาจแต่นิ่งเฉย ไม่กลัวเลยก็มี ในขณะที่บางตัวแสดงอาการหวาดกลัวโดยเริ่มตั้งแต่ การเห่า กระวนกระวาย บางตัวไปหลบในมุมมืด หรือถ้าโชคร้ายได้ยินเสียงประทัดแล้วอาจวิ่งหนีเตลิดออกจากบ้านเลยก็มีครับ ไม่ใช่แค่น้องหมาน้องแมวเท่านั้นนะครับที่กลัวประทัด สัตว์เลี้ยงขนาดเล็กอย่างพวกกระต่าย หรือหนูก็แสดงอาการหวาดกลัวเช่นเดียวกัน ในรายที่รุนแรงมากอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตเลยก็มีครับ
จะดูแลสัตว์อย่างไรให้ผ่านไปได้ด้วยดี
1. หากทราบล่วงหน้าว่าจะมีการจุดพลุหรือดอกไม้ไฟในละแวกบ้าน ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่แต่ภายในบริเวณบ้านเท่านั้น เพื่อป้องกันการตกใจแล้วหนีเตลิดไปที่อื่น ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุ วิ่งหนีไปแล้วโดนรถชน หรือกลายเป็นสุนัขหลงทาง
2. อาจจัดเตรียมสถานที่ภายในบ้านที่เป็นห้องปิดไว้ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ เพื่อลดเสียงดังที่เล็ดลอดเข้ามา และป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงมองเห็นภาพดอกไม้ไฟหรือประทัด
3. เจ้าของควรอยู่เป็นเพื่อนสัตว์เลี้ยง และคอยปลอบให้สงบในขณะที่มีการจุดประทัด จะทำให้สัตว์รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
4. ในกรณีที่สัตว์แสดงอาการหวาดกลัวไม่มาก การที่สัตว์ได้เจอสถานการณ์การจุดประทัดซ้ำ ๆ โดยมีเจ้าของคอยอยู่ข้าง ๆ จะทำให้สัตว์ลดอาการกลัวลงไปได้มาก จนถึงเลิกกลัวไปเลย
5. เจ้าของสัตว์อาจเลือกใช้สารออกฤทธิ์คล้ายฟีโรโมนช่วย เพื่อให้สัตว์สงบลง โดยวิธีนี้นิยมในต่างประเทศ
6. ในกรณีที่สัตว์แสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงจนเจ้าของควบคุมไม่อยู่ จำเป็นต้องพาไปพบสัตวแพทย์ โดยสัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซึมหรือยาสงบสติตามแต่ความเหมาะสม
วิธีการดูแลที่ชายหมอ(หมา) นำมาแบ่งปันในตอนนี้ไม่ยากเลยไม่ใช่ครับ หวังว่าจะช่วยให้คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านนำไปปรับใช้ และดูแลเหล่าสัตว์เลี้ยงแสนรักของพวกเราให้ผ่านพ้นวิกฤติ หรือปัญหาการหวาดกลัวประทัดได้อย่างราบรื่นนะครับ แล้วอย่าลืมรอติดตามเรื่องราวใหม่ ๆ ที่ชายหมอ(หมา) จะนำมาแบ่งปันกันนะครับ จนกว่าจะพบกันใหม่ครับ
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)