เคยสงสัยไหม....สุนัขจะรู้สึกร้อน และหนาวเหมือนคนเราหรือไม่?
เคยสงสัยไหมว่า เวลาเรารู้สึกร้อน สุนัขจะร้อนเหมือนเราไหม หรือเวลาเราหนาว สุนัขจะหนาวเหมือนเราหรือเปล่า...
ความจริงแล้วร่างกายสุนัขกับมนุษย์นั้นไม่เหมือนกัน สุนัขไม่มีต่อมเหงื่อ ทำให้ระบายความร้อนไม่ดีเท่ากับร่างกายมนุษย์ ดังนั้นบางเวลาที่เราคิดว่าอุณหภูมิกำลังดีแล้ว สุนัขอาจจะรู้สึกร้อน หรือหนาวไปก็ได้ อย่างนั้นอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับสุนัขคืออุณหภูมิเท่าไหร่ และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สุนัขทนความหนาวและความร้อนที่แตกต่างกันบ้าง
สุนัขแต่ละตัวขี้หนาวขี้ร้อนต่างกัน
สุนัขแต่ละพันธุ์มีโครงสร้างร่างกาย และถิ่นกำเนิดที่แตกต่างกัน ทำให้มีความทนทานต่ออุณหภูมิที่แตกต่างกันออกไป โดยปัจจัยย่อย ๆ ที่ทำให้สุนัขทนความร้อน และความหนาวได้ต่างกันมีดังนี้
ลักษณะเส้นขน: สุนัขที่มีขนหนา ขนสองชั้น ส่วนใหญ่จะทนความหนาวดี เช่น สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ หรือซามอยด์ ซึ่งสุนัขสายพันธุ์เหล่านี้มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว ทำให้นอกจากขนที่หนาแล้ว ยังมีพฤติกรรม และสภาพร่างกายที่ถูกปรับสภาพให้ทนต่อความหนาวและหิมะได้ดีมาก แต่ขณะเดียวกันเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน สุนัขเหล่านี้จะรู้สึกร้อนง่ายมาก ดังนั้นถ้าใครเลี้ยงสุนัขพันธุ์เหล่านี้ อาจจะต้องเปิดแอร์หรือหาวิธีคลายร้อนในช่วงฤดูร้อนด้วย กลับกันสุนัขที่มีขนสั้นเกรียน เช่น เกรย์ฮาวน์ สุนัขพันทาง สุนัขไทย จะทนความร้อนได้ดีกว่า แต่ก็จะทนกับอากาศเย็นมากไม่ได้เช่นกัน
สีขน: สุนัขที่มีสีขนเป็นเฉดสีเข้ม จะเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีกว่าสุนัขที่มีสีอ่อนอย่างสีขาวหรือสีครีม
ขนาดตัว: สุนัขตัวเล็กหรือสายพันธุ์เล็ก จะระบายความร้อนผ่านทางผิวหนังได้ดีกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่หรือตัวใหญ่ แต่แน่นอนว่าสุนัขพันธุ์เล็กเองก็จะทนอากาศหนาวได้น้อยกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ด้วยเช่นกัน
น้ำหนัก: สุนัขที่น้ำหนักน้อยจะทนหนาวได้น้อยกว่า สุนัขที่น้ำหนักมาก เพราะมีไขมันน้อยกว่านั่นเอง
ความเคยชินกับสภาพแวดล้อม: สุนัขที่อาศัยหรือเกิดในเมืองหนาวจะเคยชินกับอากาศหนาว หรือทนความหนาวได้ดีกว่า กลับกันสุนัขที่เกิดในเมืองร้อนแบบประเทศไทยก็จะทนอากาศร้อนได้ดีกว่าเช่นกัน
อายุและสุขภาพ: ทั้งอายุ และสุขภาพเป็นปัจจัยที่ทำให้หนาวหรือร้อนได้เช่นกัน สุนัขอายุน้อยและสุนัขอายุมาก รวมไปถึงสุนัขที่ป่วย จะหนาวง่ายกว่าสุนัขที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีสุขภาพแข็งแรง เพราะว่าร่างกายอ่อนแอกว่านั่นเอง
วัดแค่อุณหภูมิอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ
หลายคนอาจจะตัดสินอากาศร้อนเย็นจากอุณหภูมิบนเทอร์โมมิเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่นั่นก็อาจจะยังไม่ใช่ทั้งหมดเพราะยังมีปัจจัยอื่นในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความร้อน-เย็นของสุนัขด้วยเหมือนกันดังนี้
ลมหนาว: แม้จะไม่ได้เจอกันบ่อย ๆ ในเมืองไทย แต่ลมหนาวหรือลมเย็นนั้นเมื่อพัดมา จะผ่านแนวเส้นขนสัมผัสกับร่างกายสุนัขได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้สุนัขรู้สึกหนาวได้มากขึ้น
ความชื้น/ความเปียก: สุนัขที่เปียกฝน ตัวเปียก หรือแม้กระทั่งวันที่หมอกลงจัด ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สุนัขรู้สึกหนาวง่ายกว่าปกติ
เมฆครึ้ม/เมฆหนา: วันที่มีเมฆครึ้มหรือเมฆหนาจะทำให้สุนัขรู้สึกหนาวง่ายกว่าปกติ แม้จะมีอุณหภูมิเท่ากับวันที่ฟ้าใสมีแสงแดดก็ตาม
กิจกรรมของสุนัข: การทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายจะทำให้สุนัขมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นและทนต่ออากาศร้อนได้น้อยลง ดังนั้นถ้าวันไหนแดดจัดร้อนมากก็ให้น้องหมาพักผ่อนดีกว่า อย่าเพิ่งให้ออกแรงอะไรเพราะอาจจะทำให้เป็นโรคลมแดดได้
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับสุนัขในเมืองไทย
คำตอบอาจจะไม่ตายตัว เพราะสุนัขแต่ละตัวมีความสามารถในการทนความร้อนที่แตกต่างกัน แต่ในช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด เช่น อุณหภูมิกลางแจ้งสูงเกิน 34 องศาเซลเซียสขึ้นไป ขอให้เจ้าของเริ่มระวังภาวะขาดน้ำและลมแดด (Heatstroke) โดยเฉพาะสุนัขที่อยู่ในพื้นที่ปิดทึบ ระบายอากาศไม่ดี
ดังนั้นถ้าอุณหภูมิเริ่มสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ขอให้พาสุนัขมาอยู่ในร่ม เปิดพัดลมหรือแอร์ให้อากาศถ่ายเท ที่สำคัญคือ อย่าลืมให้สุนัขดื่มน้ำเยอะ ๆ ในวันอากาศร้อน จะช่วยลดความร้อนให้สุนัขได้เช่นกัน นอกจากนี้ไม่ควรพาสุนัขไปเล่นหรือทำกิจกรรมในวันที่อากาศร้อนหรือมีแดดจัด โดยเฉพาะสุนัขขนยาวเพราะมีโอกาสทำให้สุนัขเป็นโรคลมแดดได้เช่นกัน
ติดตามข้อมูลดี ๆ สำหรับคนรักสัตว์ได้ที่
FB Page :
Yippee Happy
ข้อมูลจาก
honestdocs.com