โรค...ที่มาพร้อมกับฤดูหนาว
สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน พบกันอีกเเล้วที่เว็บไชต์
Yippee Happy ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลงอย่าลืมรักษาสุขภาพของตัวเราเอง รวมถึงสัตว์เลี้ยงของเราด้วยนะครับ ในตอนที่ผ่านมาชายหมอ(หมา) ได้แบ่งปันวิธีการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูหนาวไปแล้ว
สำหรับบทความนี้จะขอขยายความเพิ่มอีกนิด เกี่ยวกับโรคที่มักจะมาพร้อมกับฤดูหนาว เพื่อที่คุณเจ้าของทุกท่านจะได้ทราบและนำไปใช้ในการดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพแข็งแรงนั่นเอง
โรคที่มักจะมาพร้อมกับฤดูหนาวนั้น ชายหมอจะไม่ได้แบ่งและอธิบายทีละโรคนะครับ แต่จะขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มโรคใหญ่ ๆ ด้วยกัน เพื่อให้เข้าใจง่าย ได้แก่
กลุ่มแรกคือ โรคที่ระบาดได้ดีในช่วงฤดูหนาว โดยโรคในกลุ่มนี้จะสามารถแพร่กระจายได้ดีในอากาศ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ลมแรง ๆ แบบนี้ทำให้ยิ่งระบาดได้ดี เช่น กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นต้น
กลุ่มถัดมาคือ กลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการดูแลที่ไม่ถูกวิธีจากเจ้าของ เช่น โรคผิวหนัง โรคท้องเสีย เป็นต้น
กลุ่มสุดท้ายคือ ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ (hypothermia) เป็นภาวะที่มีอันตรายสูง อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เรามาทำความรู้จักกันทีละกลุ่มโรคเลยครับ
โรคที่ระบาดรุนแรงในฤดูหนาว (โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ)
โรคที่ระบาดรุนแรงในฤดูหนาวนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นชื่อเรียกแบบกว้าง ๆ ของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย หรือไวรัส ที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ โดยความรุนแรงนั้นมีตั้งแต่ เป็นแล้วหายเองได้ เช่นไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงมีอาการป่วยที่รุนแรง อันตรายต่อชีวิต เช่น ไข้หัด ทั้งนี้ปัจจัยความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ก่อโรค และภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์เอง
โดยอากาศหนาวส่งผลต่อปัจจัยทั้ง 2 ข้อนี้
ข้อแรก โรคติดต่อทางเดินหายใจส่วนใหญ่สามารถติดต่อได้ทางอากาศ (airborne disease) ในฤดูหนาวแบบนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากอุณหภูมิจะลดลงแล้ว ลมยังพัดแรงอีกด้วยนะครับ ลมที่ว่านี้แหละเป็นเสมือนตัวพาเชื้อโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงของเราได้ เท่านั้นยังไม่พออุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในฤดูหนาวส่งผลต่อการเจริญ และการมีชีวิตรอดของเชื้อหลายชนิด พูดง่าย ๆ ก็คือเชื้อโรคบางตัว ชอบอากาศแบบนี้และสามารถมีชีวิตรอดได้ยาวนานกว่าอากาศในฤดูกาลอื่น ๆ ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้พวกเชื้อโรคที่ติดต่อทางอากาศมีการระบาดอย่างรุนแรงในฤดูหนาวนั่นเองครับ
ข้อสอง การลดลงของอุณหภูมิจนหนาวจัด รวมถึงความแปรปรวนของอุณหภูมิระหว่างวัน เช่น กลางวันร้อนมากและกลางคืนหนาว สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดภาวะ stress ในร่างกาย และภาวะดังกล่าวนี้ ส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์โดยตรง ทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง รวมถึงความหนาวเย็นและความแห้งของอากาศยังทำให้ทางเดินหายใจของสัตว์นั้นแห้งตามไปด้วย จึงเปรียบเสมือนว่าเกราะป้องกันโรคของร่างกายโดยรวมแย่ลง จึงส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าฤดูอื่น ๆ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มักพบในฤดูหนาวได้แก่ ไข้หวัด โดยมักเกิดจากเชื้อไวรัส ไข้หัดสุนัข โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ โรคปอดบวม เป็นต้น และอย่างที่ชายหมอบอกไป โรคเหล่านี้ บางโรคหายได้เอง หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่บางโรคนั้นรุนแรงจนทำให้ตายได้ เพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงเรา หากคุณเจ้าของสังเกตเห็นอาการดังต่อไปนี้ ซึม เบื่ออาหาร ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจลำบาก หรือหอบ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้านนะครับ จะได้วินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที
กลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการดูแลที่ไม่ถูกวิธี
โรคในกลุ่มนี้เกิดจากการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยความเชื่อผิด ๆ ของเจ้าของ ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงนั้นเกิดโรคโดยที่ไม่ได้ตั้งใจนั่นเอง ตัวอย่างเช่น
- การไถขนให้เกรียน จะได้ไม่เป็นเห็บหมัด แม้แต่ฤดูหนาวก็ไม่เว้น ข้อนี้ควรทำความเข้าใจใหม่นะครับ การไถขนเกรียนไม่ได้ทำให้สุนัขไม่มีเห็บ หรือแมวไม่มีหมัด การไถขนเกรียนมีประโยชน์เพียงแค่ทำให้มองเห็นเห็บ หมัดได้ง่ายขึ้นเท่านั้น การรักษาและป้องกันที่ถูกต้องคือ การใช้ยากำจัดเห็บหมัด โดยมีให้เลือกใช้ทั้งยาหยดหลัง ยากิน และยาฉีด เมื่อเราทำการป้องกันเห็บหมัดอย่างถูกวิธีแล้ว ในฤดูหนาวก็ไม่จำเป็นต้องไถขนให้สั้นเกรียนอีกต่อไป ปล่อยให้ขนได้ทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นต่อร่างกายของสัตว์ และหากเป็นสัตว์ขนสั้นก็ควรสวมเสื้อ หรือหาผ้าห่มให้เพิ่มด้วยครับ จะได้ช่วยรักษาความอบอุ่นของร่างกายไม่ให้หนาวจนกระทั่งภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
- การไม่อาบน้ำในฤดูหนาว จะได้ไม่เป็นหวัด เจ้าของหลายท่านมักจะหวังดีกับสุนัข กลัวว่าจะหนาว เลยเลือกที่จะไม่อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงเลยตลอดทั้งฤดูหนาว ซึ่งนี่ก็เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน สามารถอาบน้ำได้นะครับ เพียงแต่ไม่ต้องอาบบ่อยเท่าปกติ อาจจะสองสัปดาห์ต่อการอาบหนึ่งครั้งก็เพียงพอ แต่ที่สำคัญคือควรอาบในเวลาที่อากาศไม่หนาวมาก หากมีน้ำอุ่นก็สามารถใช้น้ำอุ่นอาบได้ และต้องเป่าขนให้แห้งสนิทหลังอาบน้ำ หากไม่อาบน้ำเลย จะทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ หมักหมมอยู่ที่ขนสัตว์และผิวหนัง อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราตามมาได้ หากคุณเจ้าของท่านใดทำแบบนี้อยู่ แล้วสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มมีอาการคัน ขนร่วง มีตุ่ม มีผื่น ตามตัว ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที รวมถึงอย่าลืมอาบน้ำให้ด้วยนะครับ
- ฤดูหนาวอาหารไม่บูด น้ำก็ไม่เสีย ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย นี่ก็เป็นอีกความเชื่อที่ไม่ถูกต้องครับฤดูหนาวไม่ได้ทำให้อาหารไม่บูด น้ำไม่เสีย เพียงแค่บูดหรือเสียช้าลงเล็กน้อยเท่านั้น เจ้าของจึงควรเปลี่ยนอาหารแต่ละมื้อให้ สด ใหม่ และน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรให้กินอาหารหรือน้ำที่ค้างคืน ไม่เช่นนั้น อาจเกิดโรคท้องเสีย และอาหารเป็นพิษได้ครับ
- ฤดูหนาวไม่ควรให้สัตว์ออกจากบ้าน เพราะข้างนอกอากาศหนาว เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ อันนี้ก็เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว จริงอยู่ที่ว่าการให้สัตว์อยู่แต่ในบ้านนั้นอากาศอบอุ่น และไม่ต้องเสี่ยงเจอเชื้อโรค แต่การขังไว้แต่ในบ้านอาจทำให้สัตว์เกิดภาวะเครียดได้นั้นเอง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ต้องการออกกำลังกายสูง พอเครียดหนัก ๆ เข้า ภูมิคุ้มกันก็ตกครับ ติดเชื้อต่าง ๆ ง่ายขึ้นอีก คุณเจ้าของต้องเข้าใจนะครับว่าฤดูหนาวในเมืองไทยเรานั้น ไม่ได้หนาวถึงขั้นอุณหภูมิติดลบ ควรปล่อยให้สัตว์ได้ออกไปเดินข้างนอกบ้าง โดยอาจสวมเสื้อหนา ๆ ให้ เพียงแค่นี้ก็สามารถป้องกันอากาศหนาวเย็นได้ และทำให้สัตว์ไม่เครียดอีกด้วยครับ
ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ (Hypothermia)
ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ (Hypothermia) เป็นความผิดปกติที่ร่างกายของสัตว์ไม่สามารถรักษาสมดุลของอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมได้ ซึ่งโดยทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ร่างกายจะมีกลไกต่าง ๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่เมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป เช่นเมื่อสัมผัสกับอากาศเย็น สัตว์จะตอบสนองโดย แสดงอาการตัวสั่นเพื่อสร้างความร้อนในร่างกาย และขนลุกเพื่อเก็บความร้อนไม่ให้สูญเสียออกไป เป็นต้น
แต่ในภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกตินี้ ร่างกายสัตว์ได้พยายามปรับเพื่อตอบสนองต่ออากาศหนาวจนกระทั่งเกินขีดจำกัด ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว ซึ่งมักเกิดจากการปล่อยให้สัตว์ออกไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นที่อุณหภูมิต่ำมาก ๆ เป็นเวลานาน
ในบ้านเรามักพบภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยกับลูกสัตว์ โดยเฉพาะลูกสัตว์ที่เกิดใหม่ มักทนต่ออากาศหนาวเย็นไม่ได้ ต้องอาศัยการนอนกกจากตัวแม่สัตว์ หากโชคร้ายแม่สัตว์เองก็ทนไม่ไหว หรือแม่สัตว์ที่มีสัญชาตญาณการเลี้ยงดูลูกต่ำ มักทำให้ลูกสัตว์เหล่านี้ตายจากการสัมผัสอากาศที่หนาวเย็น ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวนี้ เจ้าของสัตว์ควรจัดที่นอนที่อบอุ่นไว้ให้สัตว์ รวมถึงอาจต้องใส่เสื้อผ้าให้หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็น
สาระความรู้ที่ชายหมอ(หมา) นำมาแบ่งปันกันนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสัตว์ควรจะรู้ เพื่อที่สัตว์เลี้ยงของเราจะได้แข็งแรง และใช้ชีวิตในฤดูหนาวอย่างมีความสุขครับ สำหรับตอนนี้ ชายหมอ(หมา) คงต้องขอลาไปก่อนจนกว่าจะพบกันใหม่ครับ
บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)