Blog

บทความน่ารู้

สุนัขดุหรือไม่ฮอร์โมนช่วยบอกได้

    ปัญหาคนถูกสุนัขกัดเป็นเรื่องที่พบเห็นได้เป็นประจำ  นอกจากจะทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บแล้ว มิหนำซ้ำยังอาจติดโรคร้ายจากน้ำลายของสุนัขได้ด้วย  สุนัขที่ดุนั้นนอกจากจะส่งผลต่อคนและสัตว์อื่นรอบข้างแล้ว ยังส่งผลเสียต่อตัวของสุนัขเอง ทำให้คุณภาพชีวิตนั้นแย่ลงไป บางตัวดุมากจนเจ้าของไม่อยากเลี้ยง ต้องแอบพาไปปล่อย ทิ้งให้ตกเป็นภาระของสังคมไปอีก ในบางประเทศสุนัขที่ดุมาก ๆ อาจถูกตัดสินให้ต้องจบชีวิตลงด้วยการถูกฉีดยาให้หลับไปหากสุนัขตัวดังกล่าวนั้นเป็นภัยต่อสังคม
 
     สุนัขที่ดุนั้นเกิดจากเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมเพราะเป็นพันธุ์ที่ดุมาแต่กำเนิด การถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และที่สำคัญที่สุดเลยคือ การเลี้ยงดูที่ผิด ๆ และได้ประสบการณ์ที่ไม่ดีจากผู้เลี้ยงมาก่อน   
     เคยมีการศึกษาบทบาทของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และเซโรโทนิน ซึ่งมีผลทำให้สุนัขที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว แต่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน นั้นก็พบได้ในสุุนัขเพศผู้ทั่วไป และก็ไม่ใช่สุนัขเพศผู้ทุกตัวที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะที่เซโรโทนินนั้น ยังมีผลกระทบกับภาวะซึมเศร้าได้ด้วย ไม่ได้ส่งผลต่อความก้าวร้าวเพียงอย่างเดียว 

     มีผลการวิจัยบทบาทของฮอร์โมนออกซิโทซิน และฮอร์โมนวาโซเพรสซิน ว่ามีผลต่อพฤติกรรมของสุนัขหรือไม่อย่างไร ผลปรากฎว่า สุนัขที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้พิการจะมีระดับฮอร์โมนออกซิโทซินสูงกว่าสุนัขทั่วไป ว่ากันว่าฮอร์โมนออกซิโทซินนี้เป็น "ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน" ส่งผลต่อความรู้สึกรัก รู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย ฮอร์โมนนี้สร้างจากสมอง ซึ่งโดยทั่วไปมันมีหน้าที่เพื่อช่วยในการคลอดและกระตุ้นการสร้างน้ำนม ทำให้มดลูกเกิดการบีบตัวและเกิดการหลั่งน้ำนม นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมความรักใคร่ อยากใกล้ชิดและอยากดูแล คล้ายกับคนที่กำลังตกหลุมรัก ก็จะมีระดับฮอร์โมนออกซิโทซินมากกว่าคนปกติด้วยเช่นกัน
   
     ในขณะที่สุนัขที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก็จะมีฮอร์โมนวาโซเพรสซินสูงกว่าสุนัขปกติทั่วไป ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ควบคุมระดับความสมดุลของน้ำในร่างกาย ทำให้เส้นเลือดหดตัว และมีผลต่อความดันโลหิตด้วยในเรื่องของพฤติกรรมกับฮอร์โมนวาโซเพรสซินนั้น จะแสดงออกในทางตรงกันข้ามกับฮอร์โมนออกซิโทซิน คือ  ส่งผลต่อความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ในสังคม นอกจากนี้ความเจ็บป่วย ความเครียด รวมถึงยาบางชนิด ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนนี้มากขึ้นได้ ในสัตว์บางชนิดตัวผู้จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อสัตว์ตัวอื่น ๆ แต่เมื่อฮอร์โมนนวาโซเพรสซินนี้ลดลงก็จะกลับมาสงบตามเดิม แต่ผู้วิจัยยังสรุปไม่ได้ว่าการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนวาโซเพรสซินนี้ เป็นผลทำให้เกิดความก้าวร้าว หรือเพิ่มขึ้นเพราะผลการตอบสนองของร่างกายจากความก้าวร้าว แต่สุนัขที่ก้าวร้าวก็จะมีฮอร์โมนวาโซเพรสซินสูงขึ้นได้นั้นเอง

     อาจกล่าวได้ว่าความก้าวร้าวในสุนัขนั้นเกิดจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดู ซึ่งการจะจัดการความก้าวร้าวให้ได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจชีววิทยาของร่างกายสุนัขด้วย การศึกษาความสัมพันธ์ของฮอร์โมนออกซิโทซินและฮอร์โมนวาโซเพลสซินนี้ จึงเป็นการเปิดมุมมองใหม่ เพื่อให้เราเข้าใจธรรมชาติร่างกายของสุนัขมากขึ้น และในอนาคตเราอาจนำมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดสุนัขที่ก้าวร้าวได้ต่อไปด้วย

บทความโดย:  Dogilike