เชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข อันตรายกว่าที่คุณคิด
เชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข อันตรายกว่าที่คุณคิด
(Canine Parvovirus : CPV)
เชื้อพาร์โวไวรัส
เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัขแบบเฉียบพลัน และรุนแรงมากกว่าเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ การติดเชื้อพาร์โวไวรัสสามารถเกิดกับสุนัขทุก ๆ ช่วงอายุ แต่ในลูกสุนัขอายุ 4-6 เดือนจะมีความไวต่อการติดเชื้อ อาการของโรคจะรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังพบว่าสุนัขบางสายพันธุ์ เช่น ร๊อตไวเลอร์ โดเบอร์แมนพินเชอร์ อเมริกันพิทบลูเทอเรีย เยอรมันเชพเพิร์ด และลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ มีความไวต่อเชื้อนี้สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และพบว่าลูกสุนัขที่ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง เนื่องจากไม่มีการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง
การติดต่อและอาการโรคลำไส้อักเสบในสุนัข
เชื้อดังกล่าวติดต่อได้จากการสูดดม สัมผัสกับอาเจียน หรืออุจจาระของสุนัขที่เป็นโรค และมีการพบอีกว่า " เชื้อพาร์โวไวรัส " มักจะปนเปื้อนอยู่ในดิน และมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 ปี ไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปทำลายระบบย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารจำพวกโปรตีนและน้ำได้ ส่งผลให้ร่างกายสุนัขอ่อนแรง เกิดภาวะขาดน้ำ และหัวใจยังเต้นเร็วผิดปกติ
สามารถสังเกตความผิดปกติจากภายนอกได้ดังนี้
- มีไข้สูงประมาณ 40-41 องศาเซลเซียส
- เซื่องซึม
- เบื่ออาหาร
- อาเจียน
- ท้องเสียอย่างรุนเเรง (อาจมีเลือดปน)
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
หากพบความผิดปกติในลักษณะนี้ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะหากไม่รีบรักษาคุณพ่อคุณแม่อาจจะเสียน้องไปภายใน 48-72 ชั่วโมง
การรักษา
การรักษาลำไส้อักเสบติดต่อนั้นไม่มีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง จึงมีเพียงการรักษาแบบผยุงอาการ และควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อน ดังนี้คือ
- การให้น้ำ สารอาหารและแร่ธาตุ เนื่องมาจากสัตว์เบื่ออาหารร่วมกับอาการถ่ายเหลว และอาเจียน
- ยาปฏิชีวนะ ควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- การจัดการด้านโภชนาการ ในระยะแรกที่สัตว์มีอาเจียนและถ่ายเหลวมาก ๆ ควรมีการงดน้ำงดอาหารทางปากอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยการให้สารอาหารเข้าทางกระแสเลือดทดแทน เพื่อให้ทางเดินอาหารได้พัก และปรับสภาพ หลังจากนั้นค่อยให้สุนัขรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย โดยแบ่งให้ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เนื้อไก่ส่วนที่ไม่มันต้มหรือคลุกกับข้าว หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีขาย จนกระทั่งการทำงานของลำไส้กลับมาเป็นปกติจึงกลับมารับประทานอาหารตามปกติ
- ให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยาลดกรดในทางเดินอาหาร เพื่อลดการสูญเสียน้ำและอิเลคโตรไลท์ และลดการระคายเคือง ของทางเดินอาหารส่วนต้น เนื่องจากน้ำย่อยในกระเพราะอาหาร
- ยาแก้ท้องเสีย โดยทั่วไปแล้วมักไม่นิยมใช้กับการท้องเสียเนื่องมาจากการติดเชื้อ
- การให้เลือด ในกรณีที่มีการถ่ายเหลวแบบมีมูกเลือดรุนแรง เป็นเหตุให้มีภาวะโลหิตจางตามมา
การป้องกันโรคลำไส้อักเสบในสุนัข
การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อพาร์โวไวรัสตั้งแต่ในช่วงอายุประมาณ 14-16 สัปดาห์ และไม่ควรพาออกนอกบ้านหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์ แต่สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 22 สัปดาห์
สำหรับสุนัขโต ควรหมั่นพาไปตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนกับสัตวแพทย์ให้ครบตามกำหนดอยู่เสมอ นอกเหนือจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังต้องระมัดระวังในการพาน้อง ๆ แวะเวียนไปในแหล่งที่มีสุนัขจำนวนมาก โดยระวังไม่ให้น้อง ๆ ไปสัมผัสกับอาเจียน หรืออุจจาระของสุนัขตัวอื่นเด็ดขาด ถ้าตัวน้องถ่ายเสียเองถ่ายก็ควรรีบทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อพาร์โวไวรัสค่ะ
พาร์โวไวรัส โรคติดเชื้ออันตรายที่คุกคามชีวิตน้อง ๆ ได้ง่าย ๆ เเละยังไม่มียารักษาได้อีกด้วย อย่าละเลยการใส่ใจสุขภาพของน้อง ๆ พาพวกเขาไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอกันนะคะ
บทความอ้างอิง
www.vetdiags.com