โครงสร้างและหน้าที่ของขนสัตว์เลี้ยง

เราจะมาทำความรู้จักโครงสร้าง และหน้าที่ของขนกันครับว่านอกจากทำให้น้องหมาน้องแมวของพวกเราดูสวยงามน่ารักแล้วนั้น ยังมีความสำคัญอย่างไรอีกบ้าง
 

ขน (Hair coat)

ขนเป็นโครงสร้างที่ห่อหุ้มร่างกายสัตว์ (ยกเว้นในสุนัข หรือ แมวพันธุ์ที่ไม่มีขนนะครับ)  สร้างขึ้นมาจากโครงสร้างที่เรียกว่า ต่อมรากขน (hair follicle)  เจริญมาจากชั้น epidermis ที่ยื่นยาวลงไปจนถึงชั้น dermis บริเวณปลายสุดของชั้นนี้จะมีส่วนของ dermis ยื่นยาวเข้ามาประกอบเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า hair papillae ซึ่งเป็นที่อยู่ของ hair matrix ซึ่งทำหน้าที่แบ่งตัวสร้างเส้นขนให้ยาวขึ้น  โดยรูปร่าง ลักษณะ ความยาว และการเจริญเติบโตของขนที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้นถูกควบคุมหลายปัจจัย  เช่น พันธุกรรม สารอาหารที่สัตว์ได้รับ ฮอร์โมน ยา รวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 
 

โครงสร้างของขน 
โครงสร้างของขนนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่

 

 

1. Hair Cuticle - เป็นส่วนที่อยู่นอกสุดของเส้นขน ลักษณะเป็นเกล็ดบางๆเคลือบเส้นขนไว้ สร้างขึ้นจากเซลล์ที่ตายแล้ว ทำหน้าที่ปกป้องเส้นผมจากสิ่งแวดล้อมภายนอก

2. Hair Cortex - เป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางระหว่าง hair cuticle และ medulla เป็นส่วนที่หนาที่สุดของเส้นขน ประกอบด้วย เส้นใยโปรตีนจำพวก เคอราติน (keratin) ไขมัน  นอกจากนี้ยังมีรงควัตถุที่เรียกว่า เมลานิน ที่สร้างมาจาก Melanocytes เป็นตัวกำหนดให้เส้นขนมีสี

3. Hair Medulla - เป็นส่วนที่อยู่ด้านในสุดของเส้นขน อาจพบเป็นช่องว่างหรือมีเซลล์อยู่ภายในแบบหลวม นอกจากนี้ยังพบว่าอาจมีเมลานินอยู่ภายในได้ เป็นชั้นที่ยังไม่ทราบหน้าที่ชัดเจน

 

ชนิดและรูปแบบของขนสัตว์

เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เคยเลี้ยงสัตว์มามากกว่า 1 ตัว หรือมากกว่า 1 ชนิด จะพบว่าขนสัตว์ในสัตว์แต่ละชนิด หรือแม้แต่ชนิดเดียวกันแต่ต่างสายพันธุ์นั้นมีความแตกต่างกัน บางตัวขนยาว บางตัวขนสั้น บางตัวขนตรง บางตัวขนหยิก สีก็ต่างกันไปอีก ความแตกต่างดังกล่าวนี้ถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลักคือพันธุกรรม และปัจจัยอื่น ๆ ตามที่ชายหมอได้เล่าไปเบื้องต้นนั้น มีการใช้เกณฑ์มากมายมาจำแนกชนิด และรูปแบบของขนสัตว์ โดยใช้เกณฑ์โครงสร้างของขนสัตว์ เพื่อจำแนกชนิดของเส้นขน และใช้เกณฑ์ความหนาของขนสัตว์ ความยาวของขนสัตว์ ในการจำแนกรูปแบบของขนสัตว์เพื่อให้เข้าใจง่าย  โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชนิดของเส้นขนสัตว์ 

  1. Guard hairs เป็นเส้นขนที่ชั้นนอกสุด มีความยาวและหยาบมากกว่าเส้นขนชนิดอื่น ๆ เส้นขนชนิดนี้จะรวมกันเป็นชั้นขนที่เรียกว่า ขนชั้นบน หรือ ขนชั้นนอก (top coat) ทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้ขนชั้นล่างเปียก ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ตลอดจนปกป้องผิวหนังจากอันตราย เช่น แสงแดด

  2. Down hairs เป็นเส้นขนที่อยู่ชั้นใน เป็นเส้นขนที่มีความยาวน้อยกว่าเส้นขนชนิดอื่น แต่มีจำนวนมากที่สุด ลักษณะแบน และหยิกเป็นลอน เส้นขนชนิดนี้จะรวมกันเป็นชั้นขนที่เรียกว่า ขนชั้นล่าง หรือ ขนชั้นใน (undercoat หรือ ground hair) ทำหน้าที่ในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย (Thermoregulation)

  3. Awn hairs เป็นเส้นขนที่มีลักษณะอยู่ระหว่าง down hairs และ guard hairs คือ สั้นกว่า guard hairs แต่ยาวกว่า down hairs ลักษณะหยิกเล็กน้อย เส้นขนชนิดนี้จะพบในสัตว์บางชนิดเช่น แมว และสัตว์มีถุงหน้าท้อง (Marsupials) แต่ไม่พบในสุนัข เส้นขนชนิดนี้จะอยู่รวมกับ down hairs เป็นชั้น undercoat (ตำราใช้คำว่า ขนชั้นกลาง) ทำหน้าที่ช่วยในกระบวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย (Thermoregulation)


รูปแบบของขนสัตว์
ในส่วนรูปแบบของขนสัตว์ ชายหมอจะขอใช้เกณฑ์ความยาวของขน และความหนาของขนชั้นนอก (top coat) และขนชั้นใน (undercoat) ในการแบ่งรูปแบบนะครับ โดยแบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

  1. Hairless มีขนเล็กน้อยที่สั้น และละเอียดหรือไม่มีขนเลย เช่น สุนัขพันธุ์ Chinese crested (hairless)  และ  แมวพันธุ์ Sphynx 

  2. Short-haired ส่วนใหญ่มีขนชั้นนอกหนา และยาวกว่าขนชั้นใน เช่น สุนัขพันธุ์ Beagle, Corgi และแมวพันธุ์ไทย, American Shorthair, Bengal

  3. Long-haired มีขนชั้นนอกที่ยาว หยาบ และเหยียดตรง และขนชั้นในหนา เช่น สุนัขพันธุ์ Pekinese, Shih Tzu, Golden Retriever และแมวพันธุ์ Maine Coon, Persian

  4. นอกจากนี้ยังมีขนลักษณะพิเศษอื่น ๆ เช่น ขนลักษณะหยิกเป็นลอน ๆ เช่น สุนัขพันธุ์ Poodle, Bichon Frise    ขนลักษณะหยิกเป็นม้วนขด เช่น สุนัขพันธุ์ Puli, Kerry Blue Terrier หรือขนลักษณะแข็งคล้ายเส้นลวด เช่น สุนัขพันธุ์ Airedale Terrier เป็นต้น


หน้าที่ของขน

  1. ทำหน้าที่ปกคลุมร่างกาย  ป้องกันผิวหนังจากอันตรายจากสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรค แสงแดด สารเคมี

  2. ป้องกันการสูญเสียความร้อน และควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

  3. ลดการเสียดสีในการเดิน เช่นขนที่ฝ่าเท้าแมว

  4. ช่วยในการพรางตัว

  5. ความสวยงาม จำแนกชนิดและพันธุ์ของสัตว์


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
⦁    Evans HE and Lahunta AD. (2013). Miller’s anatomy of the dog 4th Ed. St. Louis, MO: Elsevier Saunders.
⦁    Miller WH, Griffin CE and Campbell KL. (2013). Muller and Kirk’s Small Animal Dermatology 7th Ed. St. Louis, MO: Elsevier Saunders
⦁    Mcgavin MD and Zachary JF. (2007). Pathologic basis of veterinary diseases 4th Ed. St. Louis,  MO: Mosby Elsevier